ดาพิวิรีน (Dapivirine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาดาพิวิรีน(Dapivirine) เป็น ยาต้านไวรัสเอดส์/ ยาต้านเอชไอวี/ยาต้านรีโทรไวรัส ตัวใหม่ที่พัฒนาโดยบริษัทยานานาชาติ Janssen มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นลักษณะคล้ายวงแหวนคุมกำเนิดสอดทางช่องคลอด(Intravaginal ring)ที่บรรจุตัวยาดาพิวิรีน โดยวงแหวนยาชนิดนี้จะค่อยๆปลดปล่อยยาดาพิวิรีนได้นานต่อเนื่องถึง 1 เดือน ในปี ค.ศ.2014 (พ.ศ.2557) โครงการวิจัยและพัฒนายาดาพิวิรีนได้ถูกจัดทำโดยหน่วยงานสากลที่มิได้หวังผลกำไรซึ่งมีชื่อเรียกว่า International Partnership for Microbicide หรือเขียนย่อว่า IPM วงแหวนดาพิวิรีนถูกออกแบบสำหรับนำไปใช้กับสตรีในประเทศที่กำลังพัฒนาทั่วโลก ในปี ค.ศ.2016(พ.ศ.2559) การทำงานของคณะวิจัยได้เข้าสู่การศึกษาทดลองใช้ยาดาพิวิรีนในระยะที่ 3(อ่านเพิ่มเติมเรื่องระยะต่างๆของการศึกษาทางการแพทย์ได้จากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การศึกษาทางการแพทย์)กับสตรีอาสาสมัคร 1,100 คน ผลการศึกษาวิจัยพบว่า สตรีกลุ่มนี้ไม่มีการติดเชื้อเอชไอวี และคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ความเสี่ยงของการติดเชื้อเอชไอวีที่ถูกลดลงในภาพรวมถึง 30% ด้วยข้อสรุปถึงประสิทธิผลป้องกันเอชไอวีจากการมีเพศสัมพันธ์ของยานี้ ทำให้นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่า โครงการวงแหวนยาดาพิวิรีนจะเสร็จสมบูรณ์ภายในเดือนธันวาคมของปี ค.ศ.2018(พ.ศ.2561)

วงแหวนดาพิวิรีนถูกออกแบบการใช้งานทางคลินิกอย่างไร?

ดาพิวิรีน

ยาวงแหวนดาพิวิรีนมีลักษณะเป็นวงกลม ทำด้วยซิลิโคนที่บรรจุตัวยาดาพิวิรีน การใส่วงแหวนนี้/ชนิดนี้ จะกระทำโดยบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความชำนาญ การทดลองใช้ยาดาพิวิรีนได้รับความร่วมมือจากประเทศในทวีปแอฟริกาใต้ เช่น อูกานดาโดยอาสาสมัครที่เป็นสตรีจะเข้ามารับการใส่วงแหวนดาพิวิรีนทุก 1 เดือนจากสถานพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ กรณีที่ตรวจพบสตรีอาสาสมัครที่ใช้วงแหวนดาพิวิรีนเกิดการติดเชื้อเอชไอวี ทางสถานพยาบาลจะยกเลิกการใช้ยานี้ และส่งต่อสตรีอาสาสมัครดังกล่าวเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับตรวจหาสาเหตุการติดเชื้อเอชไอวีว่า มาจากวงแหวนดาพิวิรีนหรือติดต่อจากสาเหตุอื่น ผลงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ลักษณะนี้ ทำให้เกิดชื่อเรียกโครงการนี้ว่าเป็น “ความฝัน” ของสตรีหลายคน หรือ “DREAM” โดยอักษรแต่ละตัวย่อ มาจาก D = Dapivirine, R= Ring, E=Extended,A= Access, และM=Monitoring

กลไกการออกฤทธิ์ของดาพิวิรีนเป็นอย่างไร?

วงจรชีวิตของไวรัสเอชไอวีจะเกิดขึ้นเมื่อไวรัสฯเริ่มฝังตัวมันเองเข้าสู่เซลล์ของผู้ที่ถูกอาศัยหรือเรียกกันว่าโฮสต์(Host) จากนั้นไวรัสจะสร้างกระบวนการจำลองสารพันธุกรรมจาก ดีเอนเอ(DNA)ของโฮสต์ จากมีการใช้เอนไซม์บางชนิดอย่างเช่น Reverse transcriptase และ Protease ตัวยาดาพิวิรีน จะมีกลไกการออกฤทธิ์ในลักษณะที่เรียกวา Non-nucleoside reverse transcriptase inhibitor ส่งผลให้วงจรการขยายพันธุ์ของไวรัสเอชไอวีชะลอตัวลง จนจำนวนไวรัสที่มีปริมาณน้อยลงส่งผลทำให้ยืดระยะเวลาการมีชีวิตของผู้ป่วยได้ยาวนานขึ้น

ดาพิวิรีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ปัจจุบันยายาดาพิวิรีนยังอยู่ในช่วงการศึกษาทดลองระยะที่ 3 โดยเภสัชภัณฑ์ที่ออกแบบมาคล้ายวงแหวนคุมกำเนิดที่จะค่อยๆปลดปล่อยตัวยาดาพิวิรีนได้ตลอด 1 เดือน ในอนาคตอันใกล้นี้ เราอาจจะพบเห็นนวตกรรมของยาดาพิวิรีนภายใต้คำขวัญว่า “วงแหวนอนามัยต้านเอดส์”ก็เป็นได้

ดาพิวิรีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

วงแหวนยาดาพิวิรีน อาจทำให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่างๆดังนี้ เช่น ปากมดลูกอักเสบหรือมีอาการบวม เกิดโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะได้ง่าย ปวดศีรษะ เจ็บช่องคลอดขณะมีเพศสัมพันธ์ เจ็บบริเวณอุ้งเชิงกราน และอาจจะมีผลไม่พึงประสงค์ฯอื่นๆที่ต้องรอการสรุปและประกาศออกมาให้ผู้บริโภครับทราบ รวมถึงแนวทางป้องกันผลข้างเคียงต่างๆนั้นๆพร้อมกับข้อควรระวังในการใช้ยานี้ที่จะตามมา

ควรเก็บรักษาดาพิวิรีนอย่างไร?

ควรเก็บเภสัชภัณฑ์ยาดาพิวิรีน ภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น ห้ามเก็บในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น ไม่ยาเก็บในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และ ไม่เก็บเภสัชภัณฑ์ยานี้ที่หมดอายุ

ดาพิวิรีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาดาพิวิรีนยังต้องรอข้อสรุปความปลอดภัยจากยาทางคลินิกในการนำมาป้องกันรักษาคนทั่วไปจากโรคเอดส์ ปัจจุบันจึงยังไม่มียาชื่อการค้าและชื่อบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่ายยานี้แต่อย่างใด

บรรณานุกรม

  1. http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/newspdf/specialproject/2549-37.pdf [2018,Feb3]
  2. https://aidsinfo.nih.gov/drugs/523/dapivirine/0/patient [2018,Feb3]
  3. https://www.ipmglobal.org/our-work/our-products/dapivirine-ring [2018,Feb3]
  4. https://www.ipmglobal.org/our-work/arvs-in-the-pipeline/dapivirine-tmc120 [2018,Feb3]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Dapivirine [2018,Feb3]
  6. https://www.ipmglobal.org/sites/default/files/attachments/publication/dream-fs_oct_2017.pdf [2018,Feb3]