ซ่า ! จนข้อเสื่อม (ตอนที่ 4)

การรักษาโรคข้อเสื่อมอาจมีการใช้อาหารเสริมอื่นๆ เช่น วิตามินเอ วิตามินซี วิตามินอี ขิง ขมิ้น กรดไขมันโอเมก้า 3 (omega-3 fatty acids) คอนโดรอิทิน ซัลเฟต (Chondroitin Sulfate) กลูโคซามีน (Glucosamine) อย่างไรก็ดียังมีผลการวิจัยเพียงเล็กน้อยที่สนับสนุนการใช้ยาเหล่านี้ เช่น ในอดีตเชื่อกันว่ากลูโคซามีนสามารถช่วยรักษาได้ แต่งานวิจัยล่าสุดกลับระบุว่ามันไม่ค่อยมีผลมากนัก

ทั้งนี้ มีการทดลองผลการใช้ระหว่าง กลูโคซามีน ซัลเฟต (Glucosamine sulfate) และ กลูโคซามีน ไฮโดรคลอไรด์ (Glucosamine hydrochloride) แล้วพบว่า กลูโคซามีน ซัลเฟต ให้ผลดี ในขณะที่ กลูโคซามีน ไฮโดรคลอไรด์ ไม่ได้ให้ผล ทั้งนี้สถาบัน The Osteoarthritis Research Society International (OARSI) ของสหรัฐอเมริกา ได้ให้คำแนะนำว่าถ้าลองใช้กลูโคซามีนไปแล้ว 6 เดือน ไม่เห็นผลก็ควรหยุดใช้

อุปกรณ์หรือเครื่องพยุงสามารถช่วยลดแรงกดบนข้อสำหรับคนข้อเสื่อมได้ สนับเข่า (Knee supports) อาจช่วยคนบางคนในการยึดเส้นเอ็นและลดอาการปวด ไม้เท้าอาจช่วยลดแรงกดลงบนข้อต่อได้ นอกจากจะช่วยลดอาการปวดแล้ว อุปกรณ์เหล่านี้ยังช่วยให้ข้อเหล่านั้นทำหน้าที่ได้และช่วยป้องกันการหกล้ม

ถ้าการรักษาอื่นๆ ไม่สามารถลดอาการปวดลง หรือทำให้เราไม่สามารถทำกิจกรรมปกติได้ อาจแนะนำให้ทำการผ่าตัด ทั้งนี้มีการผ่าตัดข้อเสื่อมหลายวิธี

  • การผ่าตัดโดยวิธีส่องกล้อง (Arthroscopy) เพื่อทำความสะอาดกระดูกอ่อนที่ถูกทำลายหรือเพื่อซ่อมแซมเยื่อหุ้มข้อ เป็นวิธีที่นิยมมากที่สุดที่ใช้กับบริเวณข้อเข่าและข้อไหล่ แต่งานวิจัยระยะหลังก็ยังสงสัยว่าวิธีนี้ได้ผลจริงหรือไม่
  • การผ่าตัดเปลี่ยนข้อที่ถูกทำลายโดยการใช้ข้อเทียม ซึ่งแนะนำว่าการผ่าตัดเปลี่ยนข้อควรทำเมื่อมีอาการปวดรุนแรงที่กระเทีอนต่อคุณภาพชีวิตคนๆ นั้น เพราะถึงแม้ว่าจะเป็นการผ่าตัดที่ดีที่สุด แต่มันก็ไม่สามารถทำให้มีสภาวะเหมือนข้อปกติได้ (ข้อเทียมไม่สามารถเคลื่อนไหวได้เหมือนข้อแท้เลยทีเดียว) แต่ช่วยในเรื่องของการเคลื่อนไหวและการใช้งานได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ข้อเทียมยังช่วยลดอาการปวดได้อย่างมาก บริเวณที่มักมีการใช้ข้อเทียมคือ บริเวณสะโพกและเข่า ปัจจุบันข้อเทียมสามารถใช้ได้กับส่วน ไหล่ นิ้วมือ ข้อศอก ข้อเท้า และหลัง เพื่อช่วยลดอาการปวด
  • การเชื่อมข้อ (Joint fusion) โดยเอาข้อที่เสื่อมออกและเชื่อมกระดูก 2 ฝั่งของข้อให้เข่ากัน วิธีนี้จะใช้ในกรณีที่การเปลี่ยนข้อทำไม่ได้

สหรัฐอเมริกา มีคนเป็นโรคข้อเสื่อมเกือบ 27 ล้านคน มีจำนวนร้อยละ 25 ที่ไปพบแพทย์เพื่อการรักษาขั้นต้น และครึ่งหนึ่งของคนเหล่านั้นมีการใช้ยา NSAIDs โดยประมาณร้อยละ 80 มีการตรวจพบโรคจากการถ่ายภาพด้วยรังสีเมื่ออายุ 65

แม้ว่าในจำนวนนี้จะมีเพียงร้อยละ 60 เท่านั้นที่มีอาการปรากฏ ทั้งนี้ จำนวนผู้เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยโรคข้อเสื่อมได้เพิ่มจำนวนจาก 322,000 ราย ในปี พ.ศ. 2536 เป็น 735,000 ราย ในปี พ.ศ.2549 นอกจากนี้ ยังมีสถิติในปี พ.ศ.2547 พบว่า ทั่วโลกมีคนเป็นโรคข้อเสื่อมจำนวน 43.4 ล้านคน

แหล่งข้อมูล:

  1. The Basics of Osteoarthritis. http://www.webmd.com/osteoarthritis/guide/osteoarthritis-basics [2012, December 12].
  2. Osteoarthritis. http://en.wikipedia.org/wiki/Osteoarthritis [2012, December 12].