ซ่า ! จนข้อเสื่อม (ตอนที่ 3)

ในการตรวจวิเคราะห์โรคนั้น แพทย์อาจใช้วิธีเอกซเรย์ดูว่าการเสื่อมของข้อมีมากน้อยแค่ไหน การใช้เครื่อง MRI (Magnetic Resonance Imaging) อาจจำเป็นเพื่อใช้ดูลักษณะข้อและเนื้อเยื่อรอบๆ ข้อ ในกรณีที่การเอกซเรย์ไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าเป็นสภาวะข้ออักเสบหรือสภาวะอื่น

บางครั้งอาจมีการตรวจเลือดเพื่อดูว่าเป็นโรคข้ออักเสบชนิดไหน ถ้าหากพบว่ามีน้ำอยู่ในข้อมากเกินไป แพทย์อาจใช้วิธีดูดออก (Joint aspiration) แล้วนำไปตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์เพื่อหาว่าเป็นโรคอะไร การรักษาโรคข้อเสื่อมมักใช้หลายวิธีร่วมกัน เช่น การออกกำลังกาย การลดน้ำหนัก และการใช้ยา

นอกจากนี้ ยังมีการทำกายภาพบำบัดเพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรง การประคบร้อนหรือประคบเย็นเพื่อรักษาอาการปวด การดูดน้ำในข้อออก การฉีดยาเข้าข้อ และการใช้เครื่องช่วยพยุงต่างๆ เช่น ไม้ค้ำรักแร้ หรือ ไม้เท้า การผ่าตัดอาจช่วยลดความเจ็บปวดได้ในกรณีที่การรักษาอื่นไม่ได้ผล

การเลือกชนิดของการรักษาขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น อายุ อาชีพ สุขภาพโดยรวม ประวัติการแพทย์ ตำแหน่งที่ข้อเสื่อม และความรุนแรงของอาการ การรักษาน้ำหนักตัวให้พอดีจะช่วยป้องกันการเสื่อมของข้อเข่า สะโพก และกระดูกสันหลัง

ส่วนการออกกำลังกายจะช่วยให้ข้อได้เคลื่อนไหวและทำให้กล้ามเนื้อรอบข้อแข็งแรงขึ้น การออกกำลังกายแบบเบาๆ เช่น การว่ายน้ำ หรือ การเดินบนพื้นราบ จะทำให้เกิดแรงกดข้อที่น้อยกว่า ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้ปวดข้อ เช่น การวิ่ง (Jogging) หรือ การเต้นแอโรบิคแบบหนัก (High impact aerobics)

ในการรักษาด้วยยาบรรเทาปวด ยาอะเซตามีโนเฟน (Acetaminophen) เป็นยาอันดับต้นๆ ที่ใช้ในการรักษาโรคข้อเสื่อมตั้งแต่ระดับอ่อนถึงระดับปานกลาง มีผลการรักษาคล้ายยาต้านการอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-steroidal anti-inflammatory drugs = NSAIDs) ที่ใช้รักษาในระดับอาการรุนแรง

อย่างไรก็ดีการใช้ NSAIDs เช่น ยาไอบูโปรเฟน (Ibuprofen) นั้นต้องระวังเรื่องผลข้างเคียงจากการใช้ยาด้วย เนื่องจากมันอาจทำให้เกิดเลือดออกในกระเพาะอาหารและลำไส้ได้

ส่วนยาแก้ปวดกลุ่ม COX-2 selective inhibitors ซึ่งเป็น NSAIDs อีกประเภทหนึ่งนั้นมีผลทำให้เกิดเลือดออกในกระเพาะอาหารและลำไส้ได้น้อยกว่า แต่มีผลต่อโรคหลอดเลือดและหัวใจ (Cardiovascular Diseases = CVD) เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย (Myocardial infarction) เป็นต้น

ไม่แนะนำให้กินยาสเตียรอยด์ (Steroids) เพื่อรักษาโรคข้อเสื่อมเพราะมันมีผลข้างเคียงมาก การฉีดฮอร์โมนกลูโคคอร์ติคอยด์ (Glucocorticoids) เช่น ยาไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone) อาจลดความปวดได้ในช่วงสั้นๆ คือ ประมาณ 2-3 อาทิตย์ และ 2-3 สัปดาห์

ส่วนการฉีดกรดไฮยาลูรอนิค (Hyaluronic Acid = HA) อาจช่วยไม่ได้มาก นอกจากนี้ การรักษาด้วยการฝังเข็ม (Acupuncture) อาจช่วยลดความปวดได้ทันทีในคนที่เป็นโรคข้อเสื่อมบางคน

แหล่งข้อมูล:

  1. The Basics of Osteoarthritis. http://www.webmd.com/osteoarthritis/guide/osteoarthritis-basics [2012, December 11].
  2. Osteoarthritis. http://en.wikipedia.org/wiki/Osteoarthritis [2012, December 11].