“ซูโดอีเฟดรีน” ยาหวัดหรือยาบ้า (ตอนที่ 4 และตอนจบ)

นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการลงนามในประกาศ สธ. เพื่อยกระดับสารซูโดอีเฟดรีนและยาทุกสูตรที่มีส่วนผสมให้เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภท 2 มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน ศกนี้ ทั้งนี้ ภายใน 30 วัน หลังจากประกาศบังคับใช้ สถานพยาบาลที่ไม่มีใบอนุญาตครอบครองวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภท 2 รวมถึงร้านขายยาทุกประเภท ต้องส่งยาตำรับที่มีส่วนผสมของสารซูโดอีเฟดรีนกลับคืนให้กับผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า รวมถึงยาสูตรผสมพาราเซตามอลด้วย

นอกจากนี้ นายวิทยายังได้ลงนามในประกาศ สธ. กำหนดปริมาณครอบครองวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภท 1 และ 2 โดยกำหนดให้มีซูโดอีเฟดรีนในครอบครองได้เพียง 5 กรัม สำหรับยาแก้หวัดที่บริษัทผู้ผลิตกว่า 60 ล้านเม็ด ให้ระงับการซื้อขาย ส่วนยาที่ค้างอยู่ในโรงพยาบาล 20 ล้านเม็ด ให้สั่งจ่ายโดยแพทย์และจัดทำบัญชีผู้ป่วยอย่างเข้มงวด

การใช้ยาแก้หวัดที่มีส่วนผสมซูโดอีเฟดรีน (Pseudoephedrine) ที่ถูกต้องนั้นควรใช้ตามฉลากที่กำกับหรือตามคำสั่งแพทย์ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากกว่าหรือน้อยกว่าหรือเป็นระยะเวลานานกว่าที่แนะนำ ควรใช้ยาแก้หวัดในระยะสั้นและหยุดใช้เมื่อมีอาการดีขึ้น

ควรรับประทานยาเม็ดพร้อมน้ำ 1 แก้ว ห้ามบดยา เคี้ยวยา หรือทำให้เม็ดยาแตก กล่าวคือให้กลืนทั้งเม็ดทีเดียว การทำให้เม็ดยาแตกอาจทำให้ยาออกฤทธิ์มากเกินไปในทันทีทันใด กรณีเป็นยาน้ำควรเขย่าขวดก่อนใช้ ควรตวงยาด้วยช้อนหรือถ้วยตวงยาเฉพาะ ห้ามใช้ช้อนปกติ

ให้ปรึกษาแพทย์หากอาการไม่ดีขึ้นหลังการใช้ยาซูโดอีเฟดรีนเกิน 7 วัน หรือเมื่อมีอาการไข้ ปวดหัว ไอ หรือมีผื่นคัน หากต้องเข้ารับการผ่าตัดให้แจ้งว่ามีการใช้ยาซูโดอีเฟดรีนและอาจต้องหยุดใช้ยาสักระยะเวลาหนึ่ง ควรเก็บยาซูโดอีเฟดรีนในที่อุณหภูมิปกติให้ห่างจากความชื้นและความร้อน

กรณีที่มีความจำเป็นต้องใช้ยาซูโดอีเฟดรีน แต่ลืมรับประทานยา ให้กินยาทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่ถ้าใกล้ถึงเวลากินยาครั้งต่อไปแล้วก็ให้ข้ามไปกินยาครั้งหลังได้เลย และห้ามกินยาเพิ่มเพื่อชดเชยยาที่ลืมรับประทานไป

ควรหลีกเลื่ยงการใช้ยาซูโดอีเฟดรีนเมื่อมีการใช้ยาลดความอ้วน ยาที่มีส่วนผสมของกาเฟอีน หรือยากระตุ้นอื่นๆ เช่น ยารักษาโรคสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactive Disorder – ADHD) การใช้ยากระตุ้นร่วมกับยาลดอาการคัดจมูก/ยาซูโดอีเฟดรีนนี้อาจทำให้เกิดความเสี่ยงจากผลข้างเคียงของการใช้ยาซูโดอีเฟดรีนเพิ่มขึ้น

ในเรื่อง ผลข้างเคียงของการใช้ยาซูโดอีเฟดรีน ให้รีบขอความช่วยเหลือกรณีฉุกเฉินเมื่อมีอาการแพ้ยาซูโดอีเฟดรีนรุนแรง เช่น เป็นลมพิษ หายใจลำบาก มีอาการบวมที่หน้า ริมฝีปาก ลิ้น หรือคอ หยุดใช้ยาและพบแพทย์ฉุกเฉินทันทีที่มีอาการรุนแรงจากผลข้างเคียงของการใช้ยา

ผลข้างเคียงรุนแรงดังกล่าว ได้แก่ หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นไม่ปกติ เวียนศีรษะอย่างรุนแรงหรือกระวนกระวายใจ มีแผลถลอกหรือเลือดไหลออกง่าย อ่อนเพลียผิดปกติ มีไข้ หนาวสั่น ปวดตามร่างกาย หรือมีอาการหวัด มีอาการความดันโลหิตสูงอย่างอันตราย อาทิ ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ตาพร่ามัว มีเสียงในหู กังวล สับสน เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก หัวใจเต้นผิดปกติ และเป็นลมชัก (Seizure)

อาการปานกลางอันเกิดจากผลข้างเคียงของการใช้ยาอาจรวมถึง อาการไม่อยากรับประทานอาหาร ผิวหนังมีอาการซ่าหรือแดง รู้สึกกระวนกระวายหรืออยู่ไม่สุข (โดยเฉพาะในเด็ก) อาการนอนไม่หลับ (Insomnia) ผิวหนังเป็นผื่นคัน ผื่นแพ้ นอกจากนี้ยังอาจเกิดอาการอื่นๆ ได้อีก ซึ่งควรรีบปรึกษาแพทย์เมื่ออาการต่างไม่ดีขึ้น หรืออาการเลวลงภายใน 1-2 วัน

แหล่งข้อมูล:

  1. 10 เม.ย.ออกหมายจับโกง‘ซูโด’ http://www.posttoday.com/สังคม/สาธารณสุข/146699/10เม-ย-ออกหมายจับโกงซูโด [2012, April 7].
  2. Pseudoephedrine. http://www.drugs.com/pseudoephedrine.html [2012, April 7].