“ซูโดอีเฟดรีน” ยาหวัดหรือยาบ้า (ตอนที่ 3)

เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2555 เวลา 16.30 น. นพ.วิฑูรย์ เหลืองดิลก นายแพทย์สาธารณสุข จ.ตรัง เปิดเผยถึงการจากที่กระทรวงสาธารณสุข ได้มีคำสั่งถึงทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศ ให้ระงับการเบิกจ่ายสั่งยาที่มีส่วนผสมของสารซูโดอีเฟดรีน ตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2554 – 2 เมษายน 2555 เพื่อทำการตรวจสอบนั้น สำนักงานสาธารณสุข จ.ตรัง ได้เริ่มออกตรวจร้านขายยา และคลินิก ซึ่งทั่วทั้ง จ.ตรัง ที่มีอยู่ 137 ร้าน เพื่อป้องกันการลักลอบจ่ายยาชนิดนี้ให้กับผู้ป่วย และล่าสุดได้ตรวจไปแล้ว 98 ร้าน ส่วนภายใน อ.เมืองตรัง นั้น ได้ตรวจไปแล้ว 33 ร้าน และยังคงเหลืออีก 69 ร้าน โดยพบว่า มีเพียงร้านขายยาไม่กี่ ร้านเท่านั้น ที่ยังคงมียาแก้หวัดที่มีส่วนผสมของสารซูโดอีเฟดรีน เจ้าหน้าที่จึงได้ขอตรวจยึดคืนไปแล้ว และคาดว่าจะตรวจให้แล้วเสร็จทั้งหมดภายในเดือนเมษายนนี้ นอกจากนี้ยังมีการส่งเจ้าหน้าที่ปลอมตัวเข้าไปล่อซื้อยาแก้หวัดดังกล่าวจาก ร้านขายยาโชห่วยรอบนอกอีกด้วย จึงเชื่อว่ามาตรการที่เข้มงวดต่างๆ จะช่วยให้สามารถควบคุมร้านขายยาได้

ในฐานะผู้บริโภค ควรระวังในการใช้ยาซูโดอีเฟดรีน (Pseudoephedrine) โดยเฉพาะห้ามใช้ยาซูโดอีเฟดรีนในเด็กอายุต่ำกว่า 4 ขวบเด็ดขาด และควรปรึกษาแพทย์ก่อนการให้ยาแก้หวัดและยาแก้ไอในเด็ก การใช้ยาไม่ถูกต้องอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตในเด็กเล็ก ไม่ควรใช้ยานี้ถ้ามีอาการแพ้ยาซูโดอีเฟดรีนหรือยาลดอาการคัดจมูกอื่นๆ ยาลดความอ้วน ยากระตุ้น หรือ ยารักษาโรคสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder - ADHD)

ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนการใช้ยาแก้หวัดหรือยาแก้ไอเพราะยาซูโดอีเฟดรีนและยาลดอาการคัดจมูกใช้เป็นส่วนผสมในตัวยาหลายชนิด การใช้ยาร่วมกันหลายตัวอาจมีผลทำให้ได้รับยาเกินขนาด ควรตรวจสอบฉลากยาว่ามีส่วนผสมของยาซูโดอีเฟดรีนและยาลดอาการคัดจมูกหรือไม่ ในกรณีที่มีอาการของโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน หรือโรคต่อมไทรอยด์ผิดปกติ ต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยาซูโดอีเฟดรีน เพื่อความปลอดภัย

ห้ามใช้ยาซูโดอีเฟดรีนหากภายใน 2 สัปดาห์ที่ผ่านมามีการใช้ยาลดภาวะซึมเศร้ากลุ่ม MAOI (= Monoamine oxidase inhibitor) เช่น ยา furazolidone (Furoxone), isocarboxazid (Marplan), phenelzine (Nardil), rasagiline (Azilect), selegiline (Eldepryl, Emsam, Zelapar), หรือ tranylcypromine (Parnate) เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายจากผลข้างเคียงของการใช้ยา (Side effects)

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (Food and Drug Administration – FDA) สหรัฐอเมริกาได้จัดให้ยาซูโดอีเฟดรีนเป็นยาต้องห้ามประเภท C ของหญิงมีครรภ์ เพราะยังไม่มีความชัดเจนว่ายาซูโดอีเฟดรีนจะมีผลกระทบต่อทารกในครรภ์หรือไม่ ทั้งนี้ควรแจ้งให้แพทย์ทราบถ้าอยู่ระหว่างตั้งครรภ์ หรือมีแผนที่จะตั้งครรภ์ในขณะที่ต้องใช้ยานี้ เพราะยาซูโดอีเฟดรีนอาจก่อให้เกิดอันตรายกับทารกได้โดยผ่านทางนมแม่ ดังนั้นทางที่ดีไม่ควรใช้ยาซูโดอีเฟดรีนหากไม่ได้ปรึกษาแพทย์ว่าอยู่ในระหว่างการเลี้ยงทารกด้วยนมแม่

จากกรณีศึกษา 229,101 รายของโครงการประกันสุขภาพของรัฐบาลอเมริกัน ในรัฐมิชิแกน มีหญิงมีครรภ์ 940 รายที่ใช้ยาซูโดอีเฟดรีนในช่วงไตรมาสแรก และ 1,919 รายที่ใช้ยาในระหว่างเวลาที่ตั้งครรภ์พบว่า 37 รายมีความผิดปกติของการคลอด ซึ่งรวมถึงความผิดปกติของหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ ปากแหว่งเพดานโหว่ (Oral clefts) การมีนิ้วเกิน (Polydactyly) และภาวะผนังหน้าท้องปิดไม่สนิท (Gastroschisis) อย่างไรก็ดียังไม่มีบทสรุปแน่ชัดของการใช้ยายาซูโดอีเฟดรีน ดังนั้นจึงแนะนำให้มีการใช้ยาซูโดอีเฟดรีนเมื่อพิจารณาแล้วว่ามันมีคุณมากกว่าโทษ

แหล่งข้อมูล:

  1. ตรังเร่งตรวจยาซูโดฯรพ.-ร้านขายยา-คลินิค http://www.posttoday.com/กทม.-ภูมิภาค/147058/ตรังเร่งตรวจยาซูโดฯโรงพยาบาล-ร้านขายยา-คลีนิค [2012, April 6].
  2. Pseudoephedrine. http://www.drugs.com/pseudoephedrine.html [2012, April 6].
  3. Pseudoephedrine Pregnancy and Breastfeeding Warnings. http://www.drugs.com/pregnancy/pseudoephedrine.html [2012, April 6].