“ซูโดอีเฟดรีน” ยาหวัดหรือยาบ้า (ตอนที่ 1)

นายอังษุเกติ์ วิรุทธิ์วัฒนศักดิ์ ผู้ชำนาญการกรมสอบสวนคดีพิเศษ เข้าพบ พ.ต.ท.มนัส อัดโดดดร เจ้าของคดีสังกัดตำรวจอุดรธานี พร้อมรับสำนวนการสืบสวนสอบสวน ที่ทางตำรวจอุดรธานีสรุปสำนวนคดียาซูโดอีเฟดรีน สืบเนื่องจากการที่เภสัชกรชำนาญการ โรงพยาบาลอุดรธานีถูกพักราชการ และหลบหนีหมายจับของศาล จ.อุดรธานี ข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติมิชอบ มีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งยาออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ยักยอกทรัพย์ยาแก้หวัด “ซูโดอีเฟดรีน” ตั้งแต่ปี 2553 – 2555 จำนวน 7.2 ล้านเม็ด มูลค่า 11.3 ล้านบาท

ซูโดอีเฟดรีน (Pseudoephedrine) เป็นยากระตุ้นชนิดหนึ่งที่ใช้ลดอาการของเยื่อบุจมูก ช่วยลดภาวะเลือดคั่ง (Hyperemia) อาการบวม (Edema) และอาการคัดจมูก (Nasal congestion) ซึ่งเกิดในโรคหวัดและโรคภูมิแพ้ แล้วยังช่วยลดสารคัดหลั่งของโพรงไซนัส (Sinus secretions) นอกจากนี้ ยังช่วยเปิดท่อเชื่อมระหว่างหูชั้นกลางกับช่วงคอส่วนบน (Eustachian tubes) ซึ่งมีหน้าที่ปรับความดันอากาศในแก้วหูทั้งสองข้างให้โล่งขึ้น

ซูโดอีเฟดรีน สามารถใช้รับประทาน ซึ่งดีกว่าการใช้เฉพาะที่เพื่อลดอาการบวมของจมูก เช่น ยาออกซีเมตาโซลีน (Oxymetazoline) ตรงที่ไม่ทำให้เกิดอาการบวมกลับมาอีก หรือเป็นโรคเยื่อจมูกอักเสบ (Rhinitis medicamentosa) อย่างไรก็ดีเนื่องจากซูโดอีเฟดรีนมีคุณสมบัติเป็นสารกระตุ้น จึงอาจก่อให้เกิดผลเสียซึ่งรวมถึง ความดันโลหิตสูง (Hypertension) เหงื่อออกมาก อาการนอนไม่หลับ (Insomnia) และอาการวิตกกังวล (Anxiety) นอกจากนี้ซูโดอีเฟดรีนอาจใช้เป็นยาแก้ไอ (Antitussive) ได้ด้วย

ซูโดอีเฟดรีนยังเป็นยาที่ใช้รักษาโรคเยื่อจมูกอักเสบจากหลอดเลือด (Vasomotor rhinitis) และช่วยเสริมในการรักษาโรคกรณีเยื่อจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic rhinitis) หลอดลมอักเสบ (Croup) โพรงไซนัสอักเสบ (Sinusitis) หูชั้นกลางอักเสบ (Otitis media) และท่อลมและหลอดลมอักเสบ (Tracheobronchitis)

นอกจากนี้ ซูโดอีเฟดรีนยังใช้เป็นยาเบื้องต้นในการรักษาภาวะองคชาตแข็งค้าง (Priapism) เนื่องจากการแข็งตัวขององคชาตอยู่ในการควบคุมของประสาทตอบสนองอัตโนมัติ (Parasympathetic) ซึ่งซูโดอีเฟดรีนช่วยในการปลดปล่อยสภาวะนี้ได้ ทั้งนี้อาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ (Urinary incontinence) ก็เป็นอีกโรคหนึ่งที่ใช้ซูโดอีเฟดรีนในการรักษาได้ เพียงแต่ยังไม่ได้ระบุให้ใช้อย่างเป็นทางการ

โดยทั่วไปผลเสีย/ผลข้างเคียง (Adverse drug reactions – ADRs) ที่เกิดจากการใช้ยาซูโดอีเฟดรีนที่พบบ่อย คือ กระตุ้นระบบประสาทกลาง (Central Nervous System – CNS) อาการนอนไม่หลับ อาการวิตกกังวล อาการตื่นเต้น และอาการเวียนศีรษะ ส่วนอาการที่พบได้ไม่บ่อยก็คือ ภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ (Tachycardia and/or palpitations) อาการที่ไม่ค่อยพบ เช่น การเห็นภาพไม่ชัดเพราะรูม่านตาขยาย (Mydriasis) อาการประสาทหลอน (Hallucinations) ภาวะหัวใจเสียจังหวะ (Arrhythmias) ความดันโลหิตสูง อาการชัก (Seizures) และภาวะลำไส้ใหญ่อักเสบ (Ischemic colitis)

นอกจากนี้ อาจทำให้เกิดโรคผื่นผิวหนังได้หลายชนิด เช่น โรค Pseudo-scarlatina ผิวหนังอักเสบ (Systemic contact dermatitis) และผื่นแพ้ยา (Nonpigmenting fixed drug eruption) ยาซูโดอีเฟดรีนเมื่อนำไปใช้รวมกับยาอื่นที่มีสารเสพติด (Narcotics) อยู่อาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรคจิตหวาดระแวง (Paranoid psychosis) และยังมีรายงานว่ายาซูโดอีเฟดรีนเมื่อใช่ร่วมกับยากระตุ้นประสาทอื่นๆ อาจทำให้เกิดภาวะอุดตันของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง หรืออัมพฤกษ์/อัมพาต/โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)

แหล่งข้อมูล:

  1. เจ้าหน้าที่ดีเอสไอเดินสายรับสำนวนคดียาซูโดอีเฟดรีนหายในพื้นที่ภาคอีสาน http://www.posttoday.com/อาชญากรรม/145593/dsiเดินสายรับสำนวนคดียาซูโดฯในอีสาน [2012, April 4].
  2. Pseudoephedrine. http://en.wikipedia.org/wiki/Pseudoephedrine [2012, April 4].