ซีโรโทนิน 2ซี รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์ (Serotonin 2C receptor agonist)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาซีโรโทนิน 2ซี รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์ (Serotonin 2C receptor agonist)หรืออาจเรียกว่า 5-HT 2C receptor agonist เป็นกลุ่มยาที่ออกฤทธิ์คล้ายกับสารสื่อประสาทในสมองที่มีชื่อว่า Serotonin(อีกชื่อคือ 5-hydroxytryptamine ย่อว่า 5HT) โดยตัวยาจะต้องเข้าจับกับตัวรับ(Receptor)ในสมองที่มีชื่อว่า 5-HT 2C receptor แล้วส่งผลต่อการทำงานของระบบอวัยวะต่างๆในร่างกายและต่อจิตใจ เช่น ระบบทางเดินอาหาร ความวิตกกังวล การควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย การเคลื่อนไหวของร่างกาย สภาวะทางจิตประสาท พฤติกรรมทางเพศ ความอยากอาหาร

ทางคลินิก จึงนำยาซีโรโทนิน 2ซี รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์ มารักษาโรคบางอย่างของร่างกาย อาทิเช่น ภาวะ/โรคอ้วน อาการวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า อารมณ์สองขั้ว สมาธิสั้น บำบัดอาการสมรรถภาพทางเพศถดถอย การกลั้นปัสสาวะไม่อยู่

ขอยกตัวอย่างยาของกลุ่มซีโรโทนิน 2ซี รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์ ได้ดังนี้ เช่น

  • ยา Fenfluramine: ใช้เป็นยาลดน้ำหนัก โดยใช้ร่วมกับยา Phentermine ปัจจุบันถูกเพิกถอนการใช้แล้วด้วยตัวยาเป็นพิษต่อลิ้นหัวใจ
  • ยา Lisuride: ใช้บำบัดโรคพาร์กินสัน หากใช้ในขนาดต่ำสามารถป้องกันอาการไมเกรนได้ มีรูปแบบผลิตภัณฑ์เป็นทั้ง ยารับประทาน ยาฉีดเข้าใต้ผิวหนัง และแผ่นแปะผิวหนัง
  • ยา Lorcaserin: ใช้เป็นยาลดน้ำหนัก และมีรูปแบบเป็นยาชนิดรับประทาน ถูกพัฒนาโดยบริษัทยาชื่อ Arena Pharmaceuticals สหรัฐอเมริกา ได้รับการรับรองขึ้นทะเบียนยาตั้งแต่เดือนธันวาคม ค.ศ.2009 (พ.ศ.2552)
  • ยา Naphthylaminopropane: อยู่ระหว่างการวิจัยพัฒนาเพื่อใช้เป็นยาบำบัดการติดสุรา และการติดยาเสพติด
  • ยา Oxaflozone: ใช้เป็นยาต้านอารมณ์ซึมเศร้า เป็นยาชนิดรับประทาน ถูกวางจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า Conflictan ปัจจุบันไม่พบเห็นการใช้ยานี้แล้ว
  • ยา Aripiprazole: เป็นยาบำบัดโรคทางจิตประสาท เช่น อารมณ์สองขั้ว โรคซึมเศร้า สมาธิสั้น ในประเทศไทยจัดให้ยานี้เป็นยาควบคุมพิเศษ เป็นยาชนิดรับประทานทั้งชนิดน้ำและเม็ด พบเห็นมีวางจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า Abilify
  • ยา Vabicaserin: ถูกพัฒนาเพื่อเป็นยาทำให้เบื่ออาหาร ช่วยลดน้ำหนัก ยังอยู่ระหว่างการทำวิจัยต่อว่า เหมาะสมต่อการนำไปใช้เป็นยาต้านเศร้าหรือไม่
  • ยา Trazodone: ถูกนำมาใช้เป็นยาต้านเศร้า และช่วยคลายความวิตกกังวล เป็นยาชนิดรับประทาน และมีจำหน่ายในประเทศไทย

ทั้งนี้ยาแต่ละรายการไม่เพียงจะแสดงฤทธิ์ต่อตัวรับชนิด 5HT 2 C receptor เท่านั้น แต่อาจแสดงฤทธิ์ต่อตัวรับอื่นๆได้อีก จึงทำให้ยาตัวเดียวกันสามารถใช้รักษาได้มากกว่า 1 อาการโรค การจะเลือกใช้ยาตัวใดที่เหมาะสมกับอาการของผู้ป่วยนั้นจะต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาแต่ผู้เดียว

ซีโรโทนิน 2ซี รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ซีโรโทนิน2ซีรีเซพเตอร์อะโกนิสต์

ยาซีโรโทนิน 2ซี รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้เป็นยารักษาอาการทางจิตประสาท เช่น อาการซึมเศร้า วิตกกังวล อารมณ์สองขั้ว สมาธิสั้น
  • ใช้เป็นยาลดน้ำหนัก
  • รักษาภาวะติดสุราติดยาเสพติด
  • รักษาอาการพาร์กินสัน
  • ช่วยบำบัดสมรรรถนะทางเพศ

ซีโรโทนิน 2ซี รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาซีโรโทนิน 2ซี รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์มีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะเข้าจับกับตัวรับในสมอง ส่งผลต่อการสร้างสมดุลของสารสื่อประสาท Serotonin ได้อย่างจำเพาะเหมาะสม และทำให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาได้ตามสรรพคุณ

ซีโรโทนิน 2ซี รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาซีโรโทนิน 2ซี รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์ มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • เป็นยารับประทาน
  • ยาฉีด
  • แผ่นแปะผิวหนัง

ซีโรโทนิน 2ซี รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์มีขนาดรับประทาน/การบริหารยาอย่างไร?

ด้วยยาในกลุ่มซีโรโทนิน 2ซี รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์ มีหลายรายการยาย่อย ขนาดรับประทานและการบริหารยา จึงขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยต้องอาศัยข้อมูลทางการแพทย์ของตัวผู้ป่วย ร่วมกับการเลือกใช้ยาให้ตรงตามอาการ และมีความปลอดภัยมากที่สุดต่อผู้ป่วย หลายอาการของโรคต้องใช้เวลาของการรับประทานให้ครบตามมาตรฐานของการใช้ยานั้นๆถึงแม้อาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม ดังนั้นการรับประทานยานี้จึงต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น ห้ามมิให้ผู้ป่วยปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาซีโรโทนิน 2ซี รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคไต โรคหัวใจ โรคลมชัก รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาซีโรโทนิน 2ซี รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาซีโรโทนิน 2ซี รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์ สามารถรับประทานยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ซีโรโทนิน 2ซี รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาซีโรโทนิน 2ซี รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์ สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น รู้สึกสับสน หงุดหงิด ขาดสมาธิ
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ ตัวสั่น ง่วงนอน เกิดลมชัก เป็นลม
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น รู้สึกแสบร้อนที่ผิวหนัง
  • ผลต่อหัวใจ: เช่น หัวใจเต้นช้า ตัวบวม ค่า ECG ผิดปกติ
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หยุดหายใจ
  • ผลต่อตา: เช่น ตาพร่า

มีข้อควรระวังการใช้ซีโรโทนิน 2ซี รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาซีโรโทนิน 2ซี รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาในกลุ่มนี้
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยานี้กับ เด็ก สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามรับประทานยานี้พร้อมกับสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคลมชัก ผู้ป่วยโรคหลอดเลือด ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยากลุ่มซีโรโทนิน 2ซี รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ซีโรโทนิน 2ซี รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาซีโรโทนิน 2ซี รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์ มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยา Lorcaserin ร่วมกับยา Fentanyl อาจก่อให้เกิดภาวะ Serotonin syndrome ติดตามมา เพื่อป้องกันการเกิดภาวะดังกล่าว ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยา Lisuride ร่วมกับยา Artemether, Atazanavir, Atomoxetine, Benmoxin(ยากลุ่ม MAOI), Betaxolol, เพราะจะทำให้ระดับความเข้มข้นของยา Lisuride ในกระแสเลือดลดต่ำจนทำให้ประสิทธิภาพการรักษาด้อยลง
  • การใช้ยา Trazodone ร่วมกับยา 5-Hydroxytryptophan จะทำให้เกิดภาวะ Serotonin syndrome ติดตามมา โดยพบอาการคล้ายประสาทหลอน เกิดลมชัก ความดันโลหิตอาจสูงหรือต่ำ บางกรณีอาจเกิดภาวะโคม่า และเสียชีวิตในที่สุด หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ Aripiprazole ร่วมกับยา Bupropion อาจกระตุ้นให้เกิดอาการชักได้ง่าย อีกทั้งยา Bupropion จะทำให้ระดับของยา Aripiprazole ในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้น จนอาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียงที่สูงขึ้นของยา Aripiprazole ตามมา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป

ควรเก็บรักษาซีโรโทนิน 2ซี รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์อย่างไร?

ควรเก็บยาซีโรโทนิน 2ซี รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์ในช่วงอุณหภูมิ 15-30 องศาเซลเซียส(Celsius) หรือเก็บตามเงื่อนไขที่ระบุในเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ซีโรโทนิน 2ซี รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาซีโรโทนิน 2ซี รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์ ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Gynaemine (กายเนมีน)Sriprasit Pharma
Expogin (เอ็กซ์โปกิน)L.B.S.
Metrine (เมทรีน)T P Drug
Pondimin (พอนดิมิน)Robins Pharm
Desirel (ดีไซเรล)Codal Synto
Trazo (ทราโซ)Medifive
Trazodone Pharmasant (ทราโซโดน ฟาร์มาซัน)Cental Poly Trading
Zodonrel (โซดอนเรล)Condrugs
Zorel (โซเรล)Utopain
Abilify (อะบิลิฟาย)Otsuka

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/5-HT2c_receptor_agonist#Binding [2016,Dec31]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/5-HT2C_receptor [2016,Dec31]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Lisuride [2016,Dec31]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Naphthylaminopropane [2016,Dec31]
  5. http://www.mims.com/thailand/drug/info/abilify [2016,Dec31]
  6. https://www.drugbank.ca/drugs/DB00656 [2016,Dec31]
  7. https://www.drugs.com/drug-interactions/lorcaserin.html [2016,Dec31]