“ซีวีเอส” โรคฮิตของคนเล่นคอมฯ (ตอนที่ 3 และตอนจบ)

ซีวีเอส

การวิเคราะห์โรคซีวีเอสสามารถทำได้ด้วยการตรวจตาอย่างละเอียด ซึ่งรวมถึง

  • การสอบประวัติผู้ป่วย (Patient history) เพื่อดูว่าอาการนี้มาจากปัญหาร่างกาย การกินยา หรือปัจจัยแวดล้อมอื่นหรือไม่
  • ตรวจความชัดของสายตา (Visual acuity measurements)
  • ตรวจการหักเหของแสง (Refraction) เพื่อดูว่าสายตาสั้น (Nearsightedness) สายตายาว (Farsightedness / astigmatism)
  • ตรวจว่าตามีการโฟกัส เคลื่อนไหว และทำงานร่วมกันอย่างไร

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยจะสามารถช่วยป้องกันและทำให้อาการซีวีเอสดีขึ้น ซึ่งได้แก่

  • ปรับความสว่างของแสงทั้งแสงอาทิตย์ที่มาจากด้านนอกหรือแสงไฟในบ้านให้พอดี ถ้าเป็นไปได้ให้หันข้างจอคอมพิวเตอร์ให้แสงอาทิตย์ แทนที่จะอยู่ด้านหน้าหรือด้านหลังของคอมพิวเตอร์ หรือปรับความสว่างของหลอดไฟให้น้อยลง
  • ลดแสงจ้า (Cut the glare) ของจอคอมพิวเตอร์ ปรับแสงรอบโต๊ะ หรือติดฟิลม์กรองแสง (Glare filter) เพื่อลดความจ้า หรือใส่แว่นที่มีเลนส์เคลือบสารกันแสงสะท้อน (Anti-Reflective Coating)
  • ใช้จอคอมพิวเตอร์แบบแบน (Flat-panel liquid crystal display = LCD) เลือกจอที่มีความละเอียดคมชัด โดยมีขนาดของจุดภาพ (Dot pitch) ที่ต่ำๆ ซึ่งสำหรับจอภาพที่คมชัดมากๆ จะมีขนาดของจุดภาพเท่ากับหรือน้อยกว่า 0.28 มม. และควรเลือกขนาดจออย่างต่ำ 19 นิ้ว
  • ปรับระดับโต๊ะเก้าอี้ - เพราะจากการวิจัยพบว่าตำแหน่งวางคอมพิวเตอร์ที่ดีควรอยู่ต่ำกว่าระดับสายตาประมาณ 4-5 นิ้ว และอยู่ห่างจากใบหน้าประมาณ 20-28 นิ้ว ซึ่งจะไม่ทำให้คอหรือตาตึงขณะมองจอ
  • บริหารสายตา – ละสายตาจากหน้าจอทุกๆ 20 นาที โดยมองไปไกลประมาณ 20 ฟุต เป็นเวลา 20 วินาที เพื่อพักสายตา ซึ่งแพทย์บางคนจะเรียกวิธีนี้ว่า “20-20-20 Rule”
  • กระพริบตาบ่อยๆ เพื่อให้ตามีความชุ่มชื้น หรือหากตาแห้งก็ให้ใช้น้ำตาเทียมช่วย (จากการวิจัยพบว่า ระหว่างที่ทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์จะมีการกระพริบตาน้อยกว่าคนปกติ 5 เท่า)
  • ปรับความสว่าง (Brightness) ความชัด (Contrast) และขนาดตัวอักษรให้เหมาะกับสายตา
  • พักให้บ่อย (Mini-breaks) เพื่อลดความเสี่ยงของอาการปวดคอ หลัง และบ่า โดยระหว่างพักก็ให้ยืนขึ้น ยืดแขน ขา หลัง คอ และบ่า เพื่อคลายความตึงของกล้ามเนื้อ (จากงานวิจัยพบว่าการพักเป็นช่วงสั้นๆ ประมาณครั้งละ 5 นาที เป็นเวลา 4 ครั้งต่อวัน จะช่วยลดอาการลงได้)

แหล่งข้อมูล

  1. Computer Vision Syndrome. http://www.aoa.org/patients-and-public/caring-for-your-vision/protecting-your-vision/computer-vision-syndrome?sso=y [2014, November 17].
  2. Computer Vision Syndrome. http://www.webmd.com/eye-health/computer-vision-syndrome [2014, November 17].
  3. What is Computer Vision Syndrome? http://www.computer-vision-syndrome.org/ [2014, November 17].