ซีลีเนียม (Selenium)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

 ซีลีเนียม (Selenium) เป็นธาตุ/เกลือแร่ที่พบได้ในดินรวมถึงในอาหารที่เรารับประทานเช่น เมล็ดพืชต่างๆอย่างเมล็ดทานตะวัน รวมถึงอาหารทะเล ร่างกายมนุษย์ไม่สามารถสร้างซีลีเนียมขึ้นเองได้ แต่ธาตุนี้มีความจำเป็นต่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายรวมถึงการทำงานของต่อมไทรอยด์ ในทางคลินิกมีการนำยา/เกลือแร่/ธาตุซีลีเนียมมาบำบัดรักษาอาการป่วยที่เรียกว่า ต่อมไทรอยด์อักเสบฮาสชิโมโต (Hashimoto’s thyroiditis) ซึ่งเป็นโรคภูมิคุ้มกันฯของร่างกายมาทำลายต่อมไทรอยด์ ส่งผลให้ต่อมไทรอยด์ไม่สามารถสร้างฮอร์โมนได้อย่างเพียงพอ นอกจากนี้ยังใช้ยาซีลีเนียมมารักษาภาวะคอเลสเตอรอลในเลือดสูง (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง โรคไขมันในเลือดสูง) อีกด้วย

การได้รับยาซีลีเนียมเป็นปริมาณมากหรือเป็นเวลานานๆสามารถก่อให้เกิดพิษต่อร่างกายจนถึงกับตายได้ ดังนั้นการใช้ประโยชน์จากซีลีเนียมต้องเป็นไปตามเกณฑ์ที่เหมาะสมหรือตามคำสั่งแพทย์นั่นเอง

 ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวบางประเภทไม่เหมาะกับการได้รับยาซีลีเนียมในปริมาณมาก เช่น โรคไตเรื้อรัง  โรคต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำ (ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน) โรคมะเร็งผิวหนัง หรือในผู้ที่มีแนวโน้มเป็นโรคเบาหวานด้วยการได้รับยาซีลีเนียมในปริมาณที่ไม่เหมาะสมก็สามารถก่อให้เกิดอาการเบาหวานได้เช่นกัน

รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยาซีลีเนียมมีทั้งยารับประทานและยาฉีด ซึ่งเมื่อร่างกายได้รับยาซีลีเนียม ด้วยกระบวนการทางชีวะเคมีร่างกายจะใช้ซีลีเนียมไปเป็นส่วนประกอบในเอนไซม์ที่มีชื่อว่า Glutathione peroxidase ซึ่งคอยทำหน้าที่ปกป้องเซลล์ในร่างกายไม่ให้ได้รับความเสียหายจากสารเคมีจำพวกประจุลบต่างๆ

 เพื่อป้องกันภาวะร่างกายขาดธาตุซีลีเนียมผู้บริโภคควรต้องรับประทานอาหารอย่างถูกสัดส่วน(อาหารมีประโยชน์ห้าหมู่) เพื่อให้ร่างกายได้รับธาตุซีลีเนียมอย่างเพียงพอ การใช้ยาประเภทซีลีเนียมถือเป็นแค่ทางเลือกหนึ่งที่ช่วยบำบัดอาการขาดธาตุนี้

เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคจึงไม่ควรไปซื้อยาหรืออาหารเสริมใดๆที่มีซีลีเนียมเป็นองค์ประ กอบมารับประทานเองโดยเด็ดขาด

อนึ่งอาหารที่มีธาตุซีลีเนียมสูงเช่น อาหารทะเลโดยเฉพาะหอยและปลาทูนา เนื้อแดง (เนื้อแดง-เนื้อขาว-เนื้อดำ) เนื้อเป็ด ไก่ เห็ด ธัญพืชโดยเฉพาะเมล็ดทานตะวัน

ซีลีเนียมมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?

ซีลีเนียม

ยาซีลีเนียมมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ : เช่น

  • บำบัดรักษาอาการจากภาวะขาดซีลีเนียม  อาการเช่น อ่อนเพลีย ติดเชื้อได้ง่าย กล้ามเนื้ออ่อนแรง,  โรคหัวใจและหลอดเลือดจากกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง)
  • รักษาอาการโรคต่อมไทรอยด์ชนิดที่เรียกว่า ต่อมไทรอยด์อักเสบฮาสชิโมโต(Hashimoto’s thyroiditis) 

ซีลีเนียมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

 กลไกการออกฤทธิ์ของยาซีลีเนียมคือ ตัวยาในร่างกายจะคอยทำหน้าที่ปกป้องเซลล์ต่างๆไม่ ให้ถูกทำลายจากสารที่มีประจุลบหรืออิเล็กตรอน (Electron) รวมถึงเป็นธาตุที่คอยควบคุมการทำงานของต่อมไทรอยด์ให้เป็นไปอย่างปกติ นอกจากนี้ซีลีเนียมยังคอยควบคุมการปลดปล่อยประจุลบ (อิเล็กตรอน) จากวิตามินซีอีกด้วย  จากกลไกดังกล่าวจึงเป็นที่มาของสรรพคุณ

ซีลีเนียมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาซีลีเนียมมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:  

  • ยาฉีด ขนาด 400 ไมโครกรัม/10 มิลลิลิตร
  • ชนิดเม็ดสำหรับรับประทาน ขนาด 200 ไมโครกรัม/เม็ด
  • ชนิดแคปซูลสำหรับรับประทาน ขนาด 200 ไมโครกรัม/แคปซูล
  • แชมพูสระผม ขนาดความเข้มข้น 2.5%
  • เป็นส่วนประกอบในยาชนิดรับประทานที่มีวิตามินอื่นรวมอยู่ด้วย

ซีลีเนียมมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ขนาดการใช้ยาซีลีเนียมจะแตกต่างกันไปโดยจะขึ้นกับแต่ละข้อบ่งใช้ อาการของโรค และรูปแบบการจัดจำหน่ายของยา ในบทความนี้ขอยกตัวอย่างเฉพาะการใช้ยาซีลีเนียมเพื่อบำบัดรักษาอาการจากร่างกายขาดธาตุซีลีเนียมเท่านั้น

สำหรับภาวะขาดธาตุซีลีเนียมของร่างกาย: เช่น

  • ชนิดรับประทาน: เช่น
  • ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 100 - 500 ไมโครกรัม/วันโดยสามารถรับประทานพร้อมอาหาร หรือหลังอาหารก็ได้
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): การขาดธาตุซีลีเนียมมักไม่ค่อยพบในเด็ก จึงยังไม่มีการศึกษาที่แน่ชัดถึงขนาดยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

ข. ชนิดฉีด: เช่น

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำหรือเข้ากล้ามเนื้อขนาด 100 - 500 ไมโครกรัม/วัน
  • เด็ก: การขาดธาตุซีลีเนียมมักไม่ค่อยพบในเด็ก จึงยังไม่มีการศึกษาที่แน่ชัดถึงขนาดยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

*****หมายเหตุ:  ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาซีลีเนียม ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาซีลีเนียมอาจส่งผลให้อาการของโรครุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/ มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาซีลีเนียม สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาซีลีเนียมให้ตรงเวลา

ซีลีเนียมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) จากการบริโภคหรือได้รับยาซีลีเนียมขนาดประมาณ 400 ไมโครกรัม/วันเป็นเวลานานๆ สามารถทำให้ร่างกายได้รับพิษจากยานี้จนอาจถึงขั้นตายได้ หากพบอาการดังต่อไปนี้ควรต้องรีบนำตัวผู้ป่วยกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว เช่น

  • มีอาการท้องเสียเรื้อรัง
  • เล็บมือเปราะแตกง่าย
  • ลมหายใจมีกลิ่นคล้ายกระเทียม
  • ผมร่วง
  • มีผื่นคันตามผิวหนัง
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • อ่อนเพลีย

มีข้อควรระวังการใช้ซีลีเนียมอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาซีลีเนียม เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้ หรือแพ้องค์ประกอบของสูตรตำรับยานี้
  • กรณีที่เป็นยาฉีดจะต้องเจือจางตัวยาตามมาตรฐานที่ระบุมากับเอกสารกำกับยา/ฉลากยา ก่อนฉีดให้ผู้ป่วย  ห้ามฉีดยาให้กับผู้ป่วยโดยมิได้เจือจางตัวยาก่อน
  • ห้ามใช้ยานี้หรืออาหารเสริมที่มีซีลีเนียมกับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร รวมถึงเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก) โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • กรณีที่เป็นยาซีลีเนียมชนิดรับประทาน ห้ามมิให้ผู้ป่วยปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยาซีลีเนียมนานเกินจากคำสั่งการใช้ยาของแพทย์
  • ห้ามใช้ผลิตภัณฑ์ยาที่เสื่อมสภาพแล้ว
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมซีลีเนียมด้วย) ยาแผนโบราณ   อาหารเสริม   ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร  ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่ม เติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ซีลีเนียมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาซีลีเนียมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาซีลีเนียม ร่วมกับยา Dimercaprol จะเกิดการรวมตัวกันเป็นสารประกอบที่เป็นพิษต่อไต หากจำเป็นต้องใช้ร่วมกันควรเว้นระยะเวลาหลังการใช้ยา Dimercapol ไปแล้วประมาณ 24 ชั่วโมง จึงจะใช้ยาซีลีเนียมกับผู้ป่วยได้
  • ห้ามรับประทานยาซีลีเนียม ร่วมกับยาปฏิชีวนะ เช่นยา Moxifloxacin, Ofloxacin ในเวลาเดียวกัน ด้วยจะทำให้การดูดซึมของยาปฏิชีวนะลดลงและส่งผลต่อประสิทธิภาพของการรักษา หากจำเป็นต้องใช้ร่วมกันผู้ป่วยควรรับประทานยาปฏิชีวนะก่อนซีลีเนียมเป็นเวลาประมาณ 2 - 4 ชั่วโมงหรือหลังยาซีลีเนียมประมาณ 4 - 6 ชั่วโมง
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานยาซีลีเนียม ร่วมกับยา Risedronate ด้วยจะรบกวนการดูดซึมของยา Risedronate หากจำเป็นต้องใช้ร่วมกันควรรับประทานยาซีลีเนียมหลังจากการรับประทานยา Risedronate ไปแล้วประมาณ 30 นาทีเป็นอย่างต่ำ

ควรเก็บรักษาซีลีเนียมอย่างไร?

ควรเก็บยาและผลิตภัณฑ์ซีลีเนียม:

  • เก็บยาฯภายใต้อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • เก็บยาฯในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาฯให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาฯในห้องน้ำหรือในรถยนต์

ซีลีเนียมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาซีลีเนียม มียาชื่อการค้าอื่นๆ และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Selenium 200 mcg (ซีลีเนียม 200 ไมโครกรัม) NATURE’S BOUNTY, INC
Sebosel (ซีโบเซล) Taro
Complexed Selenium (คอมเพล็กซ์ ซีลีเนียม) Vitacost

 

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/pro/selenium-injection.html   [2022,Feb19]
  2. https://www.drugs.com/mtm/selenium.html  [2022,Feb19]
  3. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Sebosel/  [2022,Feb19]
  4. https://www.mims.com/India/drug/info/selenium/?type=full&mtype=generic#Dosage  [2022,Feb19]
  5. https://www.drugs.com/cons/selenium-supplement.html  [2022,Feb19]
  6. https://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/selenium-supplement-oral-route/side-effects/drg-20063649  [2022,Feb19]
  7. https://www.naturesbounty.com/our-products/minerals/selenium/selenium-200-mcg-100-tablets/  [2022,Feb19]
  8. https://www.vitacost.com/vitacost-complexed-selenium-albion-selenium-glycinate-complex  [2022,Feb19]
  9. https://www.drugs.com/mtm/selenium-tr.html  [2022,Feb19]
  10. https://www.drugs.com/drug-interactions/selenium-index.html?filter=3&generic_only=  [2022,Feb19]
  11. https://myfooddata.com/articles/foods-high-in-selenium.php   [2022,Feb19]