ซีทูซิแมบ (Cetuximab)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ:คือยาอะไร?

 ซีทูซิแมบ/ เซทักซิแมบ (Cetuximab) คือ ยาที่จะเข้าจับกับ *ตัวรับที่เรียกว่า EGFR และยับยั้งการส่งสัญญาณกระตุ้นการแบ่งตัวของเซลล์ทำให้เซลล์มะเร็งไม่สามารถขยายเพิ่มจำนวนได้ ปัจจุบันจัดยานี้เป็นยาควบคุมพิเศษตามกฎหมาย โดยใช้ภายการดูแลของแพทย์เท่านั้น

เซลล์ในร่างกายได้รับการควบคุม ในการเจริญ ในการพัฒนา ตลอดจนการแบ่งเพิ่มจำนวนเซลล์ในร่างกาย เซลล์มะเร็งเกิดจากเซลล์ปกติบางชนิดสูญเสียความสามารถในการรับคำสั่งหรือสัญญาณให้เกิดการแบ่งตัวตามปกติ โดยสามารถแบ่งเพิ่มจำนวนเซลล์ได้เองจากสัญญาณอื่นๆที่ผิดปกติ ทำให้เกิดมีการเจริญเติบโตของเซลล์ที่ผิดปกติและพัฒนาเป็นเซลล์มะเร็งในที่สุด

 ผู้ป่วยบางรายพบว่ามีการกลายพันธุ์ของ *ตัวรับ (Receptor) ที่เรียกว่า EGFR (Epidermal growth factor receptor) ซึ่งเป็นตัวรับที่ทำหน้าที่ในการควบคุมการเจริญเติบโตของเซลล์ หรือในการพัฒนาของฮอร์โมนบางชนิด เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนั้น EGFR จะส่งสัญญาณผ่านโปรตีน KRAS (Kirsten rat sarcoma) ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งเพื่อกระตุ้นให้เกิดการแบ่งตัวของเซลล์ ทำให้เซลล์มีการเจริญเติบโตและแบ่งตัวอย่างผิดปกติโดยไม่จำเป็นต้องได้รับสัญญาณจาก Growth Factor หรือปัจจัยกระตุ้นการเจริญเติบโตเหมือนเซลล์อื่นๆทั่วไป

ยาซีทูซิแมบมีสรรพคุณอย่างไร?

ซีทูซิแมบ

ยาซีทูซิแมบ/เซทักซิแมบ มีข้อบ่งใช้หรือสรรพคุณดังต่อไปนี้ เช่น

ก. รักษามะเร็งในระบบ-ศีรษะ-ลำคอบางชนิด (Head and Neck Cancer) เช่น มะเร็งโพรงหลังจมูก  มะเร็งคอหอย   มะเร็งกล่องเสียง
ข. รักษามะเร็งลำไส้ใหญ่และมะเร็งไส้ตรง ระยะแพร่กระจาย

ยาซีทูซิแมบออกฤทธิ์อย่างไร?

โดยปกติ เซลล์ของร่างกายจะสามารถแบ่งเพิ่มจำนวนเซลล์ได้เมื่อได้รับสัญญาณ (Signal) จากสารเร่งการเจริญเติบโตหรือ Growth Factor หากแต่เซลล์มะเร็งบางกลุ่มมีความสามารถในการรับสัญญาณที่เปลี่ยนไปกล่าวคือ สามารถเกิดการแบ่งตัวได้แม้ไม่มีสัญญาณจาก Growth Factor แต่มีตัวรับ (Receptor) จากกลุ่มสัญญาณอื่นๆแทน

ยาซีทูซิแมบ/เซทักซิแมบ ออกฤทธิ์โดยการปิดกั้นการส่งสัญญาณที่มีผลต่อการกระตุ้นเซลล์มะเร็งบางชนิดโดยจับกับตัวรับ EGFR (Epidermal growth factor receptor) ซึ่งเป็นตัวรับที่ทำหน้าที่ในการควบคุมการเจริญเติบโตของเซลล์หรือการพัฒนาของฮอร์โมนบางชนิด เพื่อยับยั้งการส่งสัญญาณการกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งผ่านโปรตีน KRAS จึงทำให้ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเซลล์มะเร็งได้

ยาซีทูซิแมบมีรูปแบบจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาซีทูซิแมบ/เซทักซิแมบ ที่จัดจำหน่ายในประเทศไทยเป็นรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็น ยาฉีด ขนาดความแรง 5 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร (5 mg/mL) ขนาดบรรจุภัณฑ์ 20 มิลลิลิตรต่อหนึ่งขวดบรรจุ

ยาซีทูซิแมบมีขนาดบริหารยาอย่างไร?

ก่อนการบริหารยา/ใช้ยาซีทูซิแมบ/เซทักซิแมบ (หยดยาเข้าหลอดเลือดดำ) แพทย์อาจพิจารณาให้ยากลุ่มต้านฮิสตามีน/ยาแก้แพ้(Antihistamines)ก่อนการให้ยาซิทูซิแมบประมาณ 30 - 60 นาทีเพื่อช่วยลดปฏิกิริยาภูมิแพ้ของร่างกายต่อยานี้ (Risk of an infusion reaction)

การกำหนดขนาดยาซีทูซิแมบ/เซทักซิแมบ เป็นการกำหนดขนาดยาจากพื้นที่ผิวของร่างกาย (Body surface area) โดยมีขนาดยาทั่วไปในการรักษาคือ

การให้ครั้งแรก: ให้ยานี้ขนาด 400 มิลลิกรัมต่อพื้นที่ผิวหนึ่งตารางเมตร หลังจากนั้นให้ยาขนาด 250 มิลลิกรัมต่อพื้นที่ผิวหนึ่งตารางเมตรสัปดาห์ละครั้งจนกว่าอาการทางคลินิกจะดีขึ้น หรือหยุดยานี้หากผู้ป่วยไม่สามารถทนผลข้างเคียงจากการใช้ยานี้ได้

การใช้ยานี้แพทย์อาจพิจารณาใช้ร่วมกับยาต้านมะเร็ง/ยาเคมีบำบัดตัวอื่นๆหรือใช้เป็นยาเดี่ยวในการรักษาขึ้นกับประเภทและชนิดของมะเร็ง ขนาดยาอาจมีการปรับให้เหมาะสมกับผู้ ป่วยเฉพาะรายได้

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาซีทูซิแมบ/เซทักซิแมบ ควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติการแพ้ยาต่างๆ แพ้อาหาร และแพ้สารเคมีทุกชนิด
  • ประวัติการใช้ยาทั้งยาที่ซื้อทานเองและยาที่แพทย์สั่งจ่าย รวมไปถึงวิตามิน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สมุนไพร ที่ใช้อยู่หรืออาจจะใช้ในอนาคต
  • ประวัติโรคหัวใจและหลอดเลือด
  • แจ้งให้ แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร ทราบหากคุณกำลังตั้งครรภ์ วางแผนที่จะตั้ง ครรภ์ หรือให้นมบุตร รวมไปถึงคู่สมรสด้วย กล่าวคือ ผู้ป่วยหรือคู่สมรสของผู้ป่วยไม่ควรตั้งครรภ์ขณะใช้ยานี้ ในกรณีที่ผู้ป่วยอยู่ในระยะให้นมบุตรควรแจ้งให้ แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร ทราบก่อนการใช้ยานี้

หากลืมบริหารยาควรทำอย่างไร?

หากลืมบริหารหรือรับยาซิทูซิแมบ/เซทักซิแมบตามที่แพทย์นัดไว้ ควรรีบแจ้งให้แพทย์ผู้ทำการรักษาทราบหรือติดต่อสถานพยาบาลที่ผู้ป่วยเข้ารับยาโดยทันทีเพื่อนัดหมายการบริหารยาหรือเข้ารับการรับยาโดยเร็วที่สุด

ยาซีทูซิแมบมีผลไม่พึงประสงค์ไหม?

ยาซิทูซิแมบ/เซทักซิแมบ  อาจก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง) บางประการ เช่น เกิดผื่นคัน คันตา ผิวหรือริมฝีปากแตก ปากคอแห้ง เจ็บบริเวณริมฝีปาก-ช่องปาก-ลำ คอ ปวดและบวมบริเวณนิ้วมือหรือนิ้วเท้า ผมร่วง ตาไวต่อแสงแดด/ตาไม่สู้แสง(เช่น น้ำตาไหล แสบตา) ปวดหัว   อ่อนเพลีย คลื่นไส้ ท้องเสีย อาเจียน  น้ำหนักตัวลด หากอาการเหล่านี้เกิดอย่างต่อเนื่อง เป็นระยะเวลานานให้รีบแจ้งให้แพทย์ทราบในการพบแพทย์ครั้งต่อไปหรือรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด

แต่หากยาซิทูซิแมบก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ฯที่มีความรุนแรง เช่น ปริมาณปัสสาวะลดลง/ถ่ายปัสสาวะได้น้อยลง การมองเห็นภาพเปลี่ยนไป ไอเป็นเลือด หรือเกิดอาการแพ้ยา เช่น มีอาการบวมบริเวณริมฝีปาก เปลือกตา/หนังตา มีการลอกของผิวหนังร่วมกับผื่นคันอย่างรุนแรง เกิดอาการบวมแดงบริเวณที่ฉีดยา หรือเกิดลักษณะเหมือนแผลติดเชื้อ หายใจไม่สะดวก /หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย ให้รีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉิน

ยาซีทูซิแมบมีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นไหม?

จากการศึกษาทางคลินิกยังไม่พบว่ายาซีทูซิแมบ/เซทักซิแมบ มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์พยาบาลและเภสัชกรทราบว่าผู้ป่วยกำลังใช้ยาต่างๆ, วิตามิน,  รวมไปถึงผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรอื่นๆ

มีข้อควรระวังในการใช้ยาซีทูซิแมบอย่างไร?

มีข้อควรระวังในการใช้ยาซีทูซิแมบ/ เซทักซิแมบ เช่น

  • ไม่ใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่แพ้ยาหรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
  • ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ในผู้ป่วยตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรรวมไปถึงหากคู่สมรสของผู้ป่วยอยู่ในระยะตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์หรือควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีป้องกันที่เหมาะสม เนื่องจากยานี้สามารถขับออกได้ทางน้ำเชื้อ(อสุจิ-น้ำกาม) ของผู้ป่วยชายขณะมีเพศสัมพันธ์ได้
  • ผู้ป่วยที่วางแผนที่จะตั้งครรภ์หรือคู่สมรสของผู้ป่วยวางแผนที่จะตั้งครรภ์ ควรตั้ง ครรภ์หลังจากหยุดยานี้แล้วอย่างน้อย 6 เดือน ส่วนผู้ป่วยที่อยู่ในระยะให้นมบุตรควรระงับการให้นมบุตรอย่างน้อย 60 วันหลังจากหยุดยานี้ไปแล้ว
  • ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในบริเวณกลางแจ้งที่มีแสงแดดส่องโดยตรง หากมีความ จำเป็นผู้ป่วยควรทาครีมกันแดดก่อนออกไปบริเวณกลางแจ้งหรือสวมหมวกหรือแว่นตาดำ เนื่อง จากขณะใช้ยานี้ผิวหนังผู้ป่วยอาจมีความไวต่อแสงแดดมากกว่าบุคคลทั่วไป
  • หลังการบริหารยาเสร็จสิ้นแพทย์ผู้ทำการรักษาอาจให้ผู้ป่วยรอติดตามผลข้างเคียงจากยาอีกประมาณ 1 ชั่วโมงก่อนอนุญาตให้กลับบ้าน หากผู้ป่วยมีอาการผิดปกติเช่น หายใจลำบาก มีการบวมขา เปลือกตา/หนังตา และริมฝีปาก มีผื่นคันขึ้น รู้สึกเหมือนจะเป็นลม มึนงง การมองเห็นพร่ามัว/ตาพร่า คลื่นไส้อาเจียน มีไข้ ขณะกำลังให้ยาหรือหลังจากให้ยาไปแล้วให้แจ้งให้แพทย์พยาบาลทราบทันที และถ้าอาการเกิดหลังกลับบ้านแล้วต้องรีบกลับมาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • ผู้ป่วยที่ใช้ยานี้เพื่อรักษามะเร็งในระบบ-ศีรษะ-ลำคออาจใช้วิธีการฉายรังสีรักษาร่วมด้วยซึ่งอาจมีความเสี่ยงเกิดการหยุดเต้นของหัวใจ (Cardiac Arrest) ผู้ป่วยจึงควรอภิปรายวิธีการรักษา ผล ข้างเคียง และความเสี่ยงร่วมกับแพทย์ รวมถึงแจ้งให้แพทย์ทราบหากมีประวัติโรคหัวใจและหลอดเลือดมาก่อน
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใข้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง:  ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาซีทูซิแมบ/เซทักซิแมบ) ยาแผนโบราณ  อาหารเสริม   ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร  ทุกชนิด  และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวม ทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ควรเก็บรักษายาซีทูซิแมบอย่างไร?

ควรเก็บรักษายาซีทูซิแมบ/เซทักซิแมบ:

  • เก็บยาที่ยังไม่ได้รับการผสมไว้ในตู้เย็นควบคุมอุณหภูมิ 2 - 8 องศาเซลเซียส(Celsius) ไม่เก็บในช่องแช่แข็ง
  • ยานี้หลังที่ได้รับการผสมเพื่อให้พร้อมใช้แล้วจะมีความคงตัวอยู่ที่ประมาณ 12 ชั่วโมงในตู้เย็นที่มีการควบคุมอุณหภูมิอยู่ระหว่าง 2 - 8 องศาเซลเซียสและนานประมาณ 8 ชั่วโมง ในอุณหภูมิห้องที่ 20 - 25 องศาเซลเซียส

ยาซีทูซิแมบมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาซิทูซิแมบ/เซทักซิแมบ มียาชื่อการค้าคือ เออร์บีทักซ์ (Erbitux®) ผลิตโดยบริษัท เมิร์ก (MERCK)

บรรณานุกรม

  1. American Pharmacists Association. Cetuximab, Drug Information Handbook with International Trade Names. 23;2014:402-04.
  2. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2021/125084s277s280lbl.pdf [2022,Feb12]
  3. https://www.mims.com/Singapore/drug/info/Erbitux/?type=BRIEF4. [2022,Feb12]
  4. https://www.cancer.gov/about-cancer/treatment/drugs/cetuximab [2022,Feb12]
  5. http://ndi.fda.moph.go.th/drug_detail/index/?ndrug=B&rctype=1C&rcno=5300012&lpvncd=&lcntpcd=&lcnno=&licensee_no= [2022,Feb12]
  6. https://www.drugs.com/mtm/cetuximab.html
  7. http://ndi.fda.moph.go.th/uploads/evidance_file/20170503115041.pdf [2022,Feb12]