ซิฟิลิสระบบประสาท (Neurosyphilis)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

คนส่วนใหญ่จะคุ้นเคยหรือรู้จักโรคซิฟิลิส (Syphilis) ว่าคือ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เท่านั้น ไม่เคยทราบมาก่อนว่า จะมีโรคซิฟิลิสระบบประสาท และมักไม่เคยทราบมาก่อนว่า การเป็นโรคซิฟิลิสนั้นร้ายแรงมาก ถ้ารักษาไม่ดีตั้งแต่ต้น จะลงเอยด้วยซิฟิลิสระบบประสาท และระ บบหัวใจและหลอดเลือด แต่ในบทความนี้ขอกล่าวถึงเฉพาะ ‘โรคซิฟิลิสระบบประสาท (Neuro syphilis)’ เท่านั้น ดังนั้น เราต้องมาทำความรู้จักกับซิฟิลิสระบบประสาทให้ดียิ่งขึ้นครับ

โรคซิฟิลิสระบบประสาทคืออะไร?

ซิฟิลิสระบบประสาท

‘โรคซิฟิลิสระบบประสาท’ หรือคนทั่วไป เรียกว่า ‘โรคซิฟิลิสขึ้นสมอง’ คือ โรคระบบประ สาทที่เกิดจากเชื้อซิฟิลิส เนื่องมาจากเชื้อซิฟิลิสเมื่อเข้าสู่ร่างกายและระบบเลือดแล้ว ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องให้หายขาด ก็จะเข้าสู่ระบบประสาท จึงก่อให้เกิดอาการผิดปกติทางระบบประสาททั้งแบบรวดเร็วและแบบใช้เวลานานเป็นหลายๆปี

โรคซิฟิลิสระบบประสาทพบบ่อยหรือไม่?

พบโรคซิฟิลิสระบบประสาทได้ประมาณ 6 - 8% ของการติดเชื้อซิฟิลิสครั้งแรกทั้งหมด โดยพบในผู้ชายบ่อยกว่าในผู้หญิงประมาณ 2 เท่า และมีรายงานพบได้ในอายุ 17 ปีถึง 70 ปี

โรคซิฟิลิสระบบประสาทเกิดได้อย่างไร?

โรคซิฟิลิสระบบประสาทเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Treponema pallidum ซึ่งเมื่อมีการติดเชื้อนี้ในกระแสเลือด เชื้อนี้จะสามารถผ่านเข้าสู่เยื่อหุ้มสมอง (Meninges) ได้ภายในเวลาไม่นานหลังจากที่ร่างกายได้รับเชื้อนี้ โดยในช่วงแรกอาจไม่มีอาการ ต่อมาจึงเริ่มมีอาการผิดปกติทางระบบประสาท

โรคซิฟิลิสระบบประสาทติดต่อได้ไหม?

โรคซิฟิลิสระบบประสาทไม่สามารถติดต่อได้ แต่ถ้าผู้ป่วยยังมีรอยโรคของซิฟิลิสระยะ แรกที่ยังรักษาไม่ดี ก็สามารถติดต่อโดยการมีเพศสัมพันธ์คือ ก่อการติดโรคที่อวัยวะเพศของคู่นอนได้

ใครมีโอกาส/ปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคซิฟิลิสระบบประสาท?

ผู้มีโอกาส/ปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคซิฟิลิสระบบประสาทคือ ผู้ที่มีการติดเชื้อซิฟิลิสแล้ว ไม่ได้ให้การรักษาที่ถูกต้องตั้งแต่แรก รักษาไม่ครบหรือไม่หาย, และ/หรือ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวี ร่วมด้วย เพราะจะส่งผลให้โรคซิฟิลิสมีอาการรุนแรงกว่าคนที่ไม่ติดเชื้อเอชไอวี

โรคซิฟิลิสระบบประสาทมีอาการอย่างไร?

โรคซิฟิลิสระบบประสาทมีอาการได้หลายแบบ แบ่งเป็นกลุ่มอาการต่างๆได้ ดังนี้

1. Asymptomatic neurosyphilis: คือ กลุ่มอาการซิฟิลิสระบบประสาทที่ไม่มีอาการ เพียงแต่ตรวจพบความผิดปกติของน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง (Cerebrospinal fluid: CSF) โดยตรวจพบมีเม็ดเลือดขาวและโปรตีนสูงขึ้นเล็กน้อย

2. Acute syphilis meningitis: คือ กลุ่มอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบแบบเฉียบพลัน พบบ่อยในผู้ป่วยวัยกลางคนหรืออายุน้อย ระยะการฟักตัวของโรคไม่เกิน 1 ปี ผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ไข้ต่ำๆ อาจตรวจพบต้นคอแข็งตึง (Stiffness of neck) ตรวจพบการกลอกตาผิดปกติ เพราะมีความผิดปกติของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 3, 6, 7 และ 8 ทำให้มีปัญหาการได้ยินลดลงร่วมด้วยโดยเฉพาะเสียงความถี่สูง (แต่ไม่มีวิงเวียนศีรษะร่วมด้วย) อาการต่างๆมักเป็นอย่างรวดเร็ว และการตรวจ CSF จากการเจาะหลังพบเม็ดเลือดขาวและโปรตีนสูงขึ้น

3. Syphilitic spinal pachymeningitis: คือ ภาวะเยื่อหุ้มสมองและเยื่อหุ้มไขสันหลังหนาตัวจากผลที่มีการอักเสบเรื้อรังเป็นเวลานาน ส่งผลให้มีการรัดหรือกดไขสันหลังและเส้น ประสาท จึงมีอาการปวด เสียว แบบลักษณะของปวดประสาทบริเวณมือ แขน และตรวจพบกล้ามเนื้ออ่อนแรงและกล้ามเนื้อลีบ ขา 2 ข้างอ่อนแรงจากการที่ไขสันหลังถูกกด

4. Meningovascular syphilis: คือ ภาวะผนังหลอดเลือดของหลอดเลือดสมองอักเสบ โดยผนังด้านในของหลอดเลือดแดงขนาดเล็กและขนาดกลางมีการอักเสบ ทำให้เกิดการตีบตันของหลอดเลือดสมอง พบในผู้ป่วยอัมพาตอายุน้อยกว่า 45 ปีที่ไม่มีสาเหตุจากโรคหัวใจและอื่น ๆ และในผู้สูงอายุ พบหลังจากการได้รับเชื้อซิฟิลิสมาแล้วประมาณ 5 - 7 ปี

5. Syphilis of spinal cord: คือ ภาวะไขสันหลังอักเสบ ที่เกิดตามหลังจากเยื่อหุ้มสมองและไขสันหลังอักเสบเรื้อรัง หรือหลอดเลือดแดงของไขสันหลังอักเสบและอุดตัน จึงก่อให้เกิดอาการขา 2 ข้างอ่อนแรง ร่วมกับขาลีบ อ่อนแรงแต่ไม่มีอาการชา

6. Generalised paresis หรือ dementia paralytica: คือ ภาวะสมองเสื่อมจากการติดเชื้อซิฟิลิส พบหลังจากการติดเชื้อครั้งแรกประมาณ 10 - 20 ปี ถ้าเป็นมากอาจมีอาการแขน ขาอ่อนแรง กลั้นปัสสาวะ อุจจาระไม่ได้ ช่วยเหลือตนเองไม่ได้

7. Tabes dorsalis: คือ ภาวะไขสันหลังส่วนหลังอักเสบ อาการเด่นคือ ปวดแบบมีดแทงที่ขา บางครั้งปวดท้องรุนแรงเหมือนกับภาวะทางศัลยกรรมช่องท้อง (เช่น ปวดท้องจากลำไส้ทะ ลุ) การรับรู้ความรู้สึกเคลื่อนไหวของข้อต่อเสียไป รวมถึงการรับรู้การสั่นสะเทือนด้วย รูม่านตาผิดปกติ ไม่ตอบสนองต่อแสงสว่าง และอาจมีประสาทหลอนร่วมด้วย

8. Cerebral และ spinal gumma: คือ ภาวะผิดปกติที่มีการอักเสบชนิดเรื้อรังของเยื่อหุ้มสมองและของเยื่อหุ้มไขสันหลัง จนกลายเป็นก้อนคล้ายก้อนเนื้องอก กดเนื้อสมองหรือไขสันหลัง เป็นภาวะที่พบน้อยมากๆ

9. Opthalmological manifestation: คือ ภาวะผิดปกติทางตาและรูม่านตา (Pupil) ได้แก่

  • รูม่านตาไม่มีปฎิกิริยาต่อแสงสว่าง
  • รูม่านตาขนาดเล็ก ไม่มีปฎิกิริยาต่อแสงสว่าง แต่มีการตอบสนองต่อการมองใกล้ ไกล (Accommodation) ปกติ เรียกชื่อว่า Argyll Robertson pupil
  • Optic neuritis (ประสาทตาอักเสบ)
  • Optic atrophy (ประสาทตาฝ่อ)
  • Anterior ischemic optic neuropathy (ประสาทตาขาดเลือด)

ผู้ป่วยควรพบแพทย์เมื่อใด?

ผู้ป่วยควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเมื่อ เริ่มมีอาการดังได้กล่าวแล้วใน’หัวข้อ อาการฯ’ ไม่ควรรอให้เป็นมาก แล้วจึงมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล

แพทย์วินิจฉัยโรคซิฟิลิสระบบประสาทได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคซิฟิลิสระบบประสาทได้โดยพิจารณาจาก

  • อาการผิดปกติข้างต้นที่ได้กล่าวแล้วใน ’หัวข้อ อาการฯ’
  • ประวัติการมีเพศสัมพันธ์ และประวัติการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • การตรวจร่างกาย และ การตรวจร่างกายทางระบบประสาท ร่วมกับ
  • การตรวจทางรังสีวิทยา เช่น เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือเอมอาร์ไอ ภาพสมอง และ/หรือภาพไขสันหลัง เป็นต้น ร่วมกับ
  • การตรวจเลือดดูสารภูมิต้านทานที่เกี่ยวข้องกับโรคนี้ และ
  • การเจาะหลังตรวจ CSF พบหลักฐานการติดเชื้อซิฟิลิส

รักษาโรคซิฟิลิสระบบประสาทอย่างไร?

การรักษาโรคซิฟิลิสระบบประสาทจะโดยการให้ยาปฏิชีวนะเพนนิซิลิน (Penicillin) ขนาดสูง (High dose penicillin) กรณีแพ้ยาก็เปลี่ยนเป็นยา เตตราซัยคลิน (Tetracycline) โดยทั่วไปใช้การรักษานานประมาณ 2 - 3 สัปดาห์ และต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเพราะต้องฉีดยาทางหลอดเลือดดำทุก 4 ชั่วโมง และ

ถ้ามีอาการผิดปกติทางระบบประสาทร่วมด้วย ก็ต้องให้การรักษาประคับประคองตามอาการร่วมด้วย เช่น อาการปวดประสาทก็ต้องให้ยาแก้ปวด, มีอาการอ่อนแรง ก็ต้องทำกายภาพบำบัด เป็นต้น

โรคซิฟิลิสระบบประสาทก่อภาวะแทรกซ้อนอะไรได้บ้าง?

ภาวะแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) ที่พบได้จากโรคซิฟิลิสระบบประสาทได้แก่ กรณีที่มีความผิดปกติทางระบบประสาทรุนแรง ก็จะเกิด

  • อาการแขนขาอ่อนแรง
  • สับสน
  • สมองเสื่อม
  • ปัสสาวะควบคุมไม่ได้
  • มีโรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ
  • โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ

โดยผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วย มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนและมีอาการรุนแรงกว่าคนอื่นๆ รวมถึงผู้ป่วยสูงอายุก็มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้สูงกว่าคนอื่นเช่นกัน

โรคซิฟิลิสระบบประสาทมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคของผู้ป่วยโรคซิฟิลิสระบบประสาทคือ กรณีรักษาหายดีแล้ว เชื้อซิฟิลิสถูกกำจัดออกจากร่างกายและจากสมองจนหมดแล้ว โอกาสกลับเป็นซ้ำก็ไม่มี แต่อาการผิดปกติทางระบบประสาทอาจมีหลงเหลือได้ ก็ต้องรักษาตามอาการ และการทำกายภาพบำบัด ซึ่งส่วนใหญ่ได้ผลดี

กรณีเป็นกลุ่มอาการติดเชื้อเยื่อหุ้มสมองอักเสบ มีโอกาสหายขาด และไม่มีความพิการหลงเหลือ แต่ถ้าเป็นกรณีอัมพาตและสมองเสื่อมร่วมด้วย หรือมีก้อนเนื้อกดทับไขสันหลัง หรือมีหลอดเลือดสมองอักเสบ ถ้าเป็นมานานให้การรักษาที่ไม่ทันเวลา ก็มีโอกาสเกิดความพิการหลง เหลือได้สูง ความพิการหลงเหลือที่พบคือ อาการสมองเสื่อม อาการแขน ขาอ่อนแรง และ

กลุ่มที่มีความผิดปกติทางระบบประสาทรุนแรง หรือกลุ่มที่มีอาการสมองเสื่อมรุนแรง จะได้ผลการรักษาที่ไม่ค่อยดี

ควรดูแลตนเองอย่างไร?

ผู้ป่วยที่เป็นโรคซิฟิลิสระบบประสาท ควรดูแลตนเองให้ดี ด้วยการรับการรักษาให้ครบขั้น ตอนการรักษา และติดตามการรักษากับแพทย์ตามนัด กรณีมีอาการแขน ขาอ่อนแรงก็ต้องหมั่นทำกายภาพบำบัด และหมั่นทำการฝึกสมองเสมอต่อเนื่องกรณีมีปัญหาด้านความจำ

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อใด?

ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดทันที ถ้ามี

  • อาการแพ้ยาที่แพทย์ให้การรักษา เช่น ผื่นคัน นอกจากนั้นคือ
  • เมื่อมีอาการผิดปกติไปจากเดิม เช่น ติดเชื้อ ไข้สูง และ/หรือ
  • มีอาการต่าง ๆเลวลง เช่น อาการปวดรุนแรงขึ้น และ/หรือ
  • เมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันโรคซิฟิลิสระบบประสาทอย่างไร?

การป้องกันไม่ให้เป็นซิฟิลิสระบบประสาทคือ การป้องกันไม่ให้เกิดโรคซิฟิลิส เพราะถ้าไม่เป็นซิฟิลิสระยะแรก ก็จะไม่มีโอกาสเกิดซิฟิลิสระบบประสาท แต่ถ้าเป็นระยะแรกแล้ว ก็ต้องรักษาให้หายขาด และต้องไม่ไปได้รับเชื้อใหม่

ดังนั้น การป้องกันโรคซิฟิลิสระบบประสาทที่สำคัญ คือ *การป้องกันการเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ด้วยการ

  • ไม่สำส่อนทางเพศ
  • ไม่เที่ยวสถานบริการ และ
  • ต้องรู้จักใช้ถุงยางอนามัยชาย ทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์