ซิพาไมด์ (Xipamide)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาซิพาไมด์ (Xipamide) เป็นยาขับปัสสาวะที่อยู่ประเภทซัลโฟนาไมด์ (Sulfonamides) ทางคลินิก ใช้ยานี้ลดอาการบวมน้ำของร่างกายที่มีสาเหตุมาจาก โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต ท้องมาน ภาวะบวมจากน้ำเหลืองคั่ง และภาวะ/โรคความดันโลหิตสูงที่มีเหตุโรคไตเรื้อรังร่วมด้วย ยานี้มีกลไกการทำงานคล้ายกับกลุ่มยาไทอะไซด์(Thiazide) โดยจะออกฤทธิ์ที่ไตด้วยการยับยั้งการดูดกลับของ เกลือโซเดียมจากปัสสาวะเข้าสู่ร่างกายจึงก่อให้เกิดความแตกต่างของแรงดันที่เรียกว่าออสโมซิส(Osmosis)ในหลอดเลือด จึงทำให้สามารถขับน้ำส่วนเกินออกจากเซลล์ของร่างกายโดยผ่านไปทางไต/ทางปัสสาวะ แต่ขณะเดียวกันร่างกายจะสูญเสียเกลือโปแตสเซีย/โพแทสเซียมไปกับน้ำปัสสาวะด้วย

ยาซิพาไมด์มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาชนิดรับประทาน และจะถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือดไประมาณ 95% ในกระแสเลือด ตัวยาเกือบทั้งหมดจะเข้ารวมตัวกับพลาสมาโปรตีน ส่งผลให้ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 5.8–8.2 ชั่วโมงเพื่อขับยานี้ทิ้งออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ

มีข้อห้าม ข้อจำกัด ข้อควรระวัง ของการใช้ยาซิพาไมด์ที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบดังนี้ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้ และห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยากลุ่มซัลโฟนาไมด์
  • ห้ามใช้ยาซิพาไมด์กับผู้ที่ปัสสาวะไม่ออก/ปัสสาวะขัด หรือผูที่มีปัญหาไตทำหน้าที่ผิดปกติอย่างรุนแรง
  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีภาวะเกลืออิเล็กโทรไลต์(Electrolyte)ในร่างกายต่ำ อย่างเช่นเกลือ โซเดียม โปแตสเซียม/โพแทสเซียม และในทางตรงกันข้าม ห้ามใช้กับผู้ที่มีภาวะเกลือแคลเซียมในเลือดสูง
  • อาการป่วยหรือโรคประจำตัวบางอย่าง อาจได้รับผลกระทบที่ก่อให้อาการโรครุนแรงอย่างมากเมื่อใช้ยานี้ เช่น ต่อมลูกหมากโต โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ผู้ที่อยู่ในภาวะร่างกายขาดน้ำ/ภาวะขาดน้ำ ผู้ป่วยจึงควรต้องแจ้ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ให้ทราบทุกครั้งว่า ตนเองมีโรคประจำตัว และใช้ยาอะไรอยู่บ้าง
  • ระวังการใช้ยาซิพาไมด์ร่วมกับยาบางชนิด ด้วยสามารถก่อให้เกิดภาวะยาตีกัน (ปฏิกิริยาระหว่างยา) เช่น กลุ่มยาที่ชัรักษาความดันโลหิตสูง (ยาลดความดันโลหิต) NSAIDs, Amphotericin B, Carbenoxolone, และ Lithium
  • สตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการใช้ยาหลายประเภทรวมถึงยาซิพาไมด์ ที่จะก่อให้เกิดผลข้างเคียงจากยาที่รุนแรง ดังนั้น การใช้ยากับผู้ป่วยกลุ่มนี้ ต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น
  • การใช้ยานี้กับผู้ป่วยเบาหวาน สามารถส่งผลให้น้ำตาลในเลือดผิดปกติได้ จึงต้องตรวจสอบและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติเสมอตามคำแนะนำของแพทย์
  • การตรวจสภาพทำงานของไตและระดับอิเล็กโทรไลต์ในกระแสเลือด เป็นสิ่งที่ต้องกระทำเป็นระยะๆ ทั้งนี้เพื่อป้องกันความผิดปกติการทำงานของไต และเพื่อให้มีสมดุลเกลือแร่ในร่างกาย
  • ระหว่างที่มีการใช้ยาซิพาไมด์ หากพบอาการ คลื่นไส้ กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือเป็นตะคริว ให้สันนิษฐานว่า มีภาวะเกลือโปแตสเซียม/โพแทสเซียมในเลือดต่ำ ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • กรณีพบอาการ ง่วงนอน และวิงเวียน ระหว่างที่ใช้ยานี้ ให้หลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะใดๆ รวมถึงการทำงานกับเครื่องจักร ด้วยจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • การได้รับยานี้เกินขนาด จะทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ รวมถึงร่างกายพร่อง/ขาดโปแตสเซียม ซึ่งมีผลกระทบสืบเนื่องต่อการทำงานของหัวใจ ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยาซิพาไมด์ ผู้ป่วยควรรับประทานยาตรงตามขนาดที่แพทย์กำหนด ห้ามมิให้ปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง

อนึ่ง หากมีข้อสงสัยการใช้ยาซิพาไมด์ สามารถสอบถามข้อมูลการใช้ยานี้เพิ่มเติมได้จากแพทย์ผู้ที่ทำการรักษา หรือจากเภสัชกรได้ทั่วไป

ซิพาไมด์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ซิพาไมด์

ยาซิพาไมด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาภาวะ/โรคความดันโลหิตสูง
  • ลดอาการบวมน้ำของร่างกายที่มีสาเหตุจาก โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต ท้องมาน และภาวะบวมจากการคั่งของน้ำเหลือง

ซิพาไมด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาซิพาไมด์คือ ตัวยาจะยับยั้งการดูดกลับเข้าสู่กระแสเลือดของเกลือโซเดียมในปัสสาวะที่หน่วยไต ก่อให้เกิดแรงในการผลักดันน้ำจากกระแสเลือด/หลอดเลือดออกมาเป็นน้ำปัสสาวะ ด้วยกลไกนี้เอง ที่ทำให้ลดอาการ บวมน้ำของร่างกาย ตลอดจนส่งผลให้ความดันโลหิตลดลงได้ตามสรรพคุณ

ซิพาไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาซิพาไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทานที่ประกอบด้วยตัวยา Xipamide ขนาด 20 มิลลิกรัม/เม็ด

ซิพาไมด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาซิพาไมด์ มีขนาดรับประทาน เช่น

ก. สำหรับรักษาโรคความดันโลหิตสูง:

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยาขนาด 20 มิลลิกรัม วันละครั้ง ตอนเช้า

ข. สำหรับบำบัดภาวะบวมน้ำของร่างกาย:

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทานยาขนาด 40 มิลลิกรัม วันละครั้ง ตอนเช้า จากนั้น แพทย์อาจปรับขนาดรับประทานลดลงมาเป็น 20 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง โดยดูจากการตอบสนองของร่างกายผู้ป่วยเป็นสำคัญ ซึ่งขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 80 มิลลิกรัม/วัน

อนึ่ง:

  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดเกี่ยวกับการใช้ยานี้กับผู้ป่วยเด็ก ทั้งในด้านขนาดยาและในด้านความปลอดภัย การใช้ยานี้ในเด็ก จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
  • ยานี้สามารถรับประทานก่อนหรือหลังอาหารก็ได้

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาซิพาไมด์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคไต โรคตับ โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ต่อมลูกหมากโต รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาซิพาไมด์ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาซิพาไมด์ สามารถรับประทานทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2เท่า ให้รับประทานยาในขนาดปกติ

แต่อย่างไรก็ดี การลืมหรือหยุดรับประทานยาซิพาไมด์ด้วยตนเอง จะทำให้อาการบวมน้ำของร่างกาย หรือภาวะ/โรคความดันโลหิตสูง ทุเลาได้ช้าลง

ซิพาไมด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาซิพาไมด์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายได้ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น ทำให้ระดับ โซเดียม และโปแตสเซียมในเลือดต่ำลง กรดยูริคในเลือดเพิ่มขึ้น ระดับน้ำตาลในเลือดผิดปกติโดยอาจสูงขึ้นหรือต่ำลง
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น รู้สึกไม่สบายในช่องท้อง
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตต่ำ

มีข้อควรระวังการใช้ซิพาไมด์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาซิพาไมด์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้กับผู้ที่ไตทำงานน้อยกว่าปกติ ผู้ที่ปัสสาวะไม่ออก/ปัสสาวะขัด ผู้ที่มีปริมาณเกลืออิเล็กโทรไลท์ในเลือดต่ำ
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก โดยไม่มีคำสั่ง จากแพทย์
  • ห้ามใช้ยาซิพาไมด์เป็นยาลดน้ำหนัก
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เม็ดยาแตกหัก สีเม็ดยาเปลี่ยน
  • ห้ามรับประทานยานี้กับสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้มีภาวะต่อมลูกหมากโต ด้วยจะทำให้เกิดภาวะปัสสาวะขัด
  • รับประทานยานี้ตรงตามขนาดและเวลาที่แพทย์สั่ง
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง เพื่อรับการตรวจร่างกายและตรวจเลือดจากแพทย์
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาซิพาไมด์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ซิพาไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาซิพาไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาซิพาไมด์ร่วมกับยา Lithium ด้วยทำให้การกำจัดยา Lithium ออกจากร่างกายทำได้น้อยลง จึงอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะได้รับพิษ(ผลข้างเคียงรุนแรง) จากยา Lithium
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาซิพาไมด์ร่วมกับยากลุ่ม NSAIDs เพราะจะทำให้การออกฤทธิ์ลดความดันโลหิตของยาซิพาไมด์ด้อยประสิทธิภาพลงไป
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาซิพาไมด์ร่วมกับยา Ibuprofen หรือ Indomethacin ด้วยจะทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของยาซิพาไมด์ด้อยลงไป
  • การใช้ยาซิพาไมด์ร่วมกับยากลุ่ม ACE inhibitors , Barbiturates , Phenothiazine, และ TCAs จะทำให้ฤทธิ์ของการลดความดันโลหิตของยาซิพาไมด์เพิ่มขึ้น หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • ห้ามรับประทานยาซิพาไมด์ร่วมกับเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ เพราะจะทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำมากตามมา

ควรเก็บรักษาซิพาไมด์อย่างไร?

ควรเก็บยาซิพาไมด์ ตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น

ซิพาไมด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาซิพาไมด์ มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Aquaphor (อะควอฟอร์)Cheplapharm
Xipamid (ซิพามิด)Zydus

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Xipamide[2017,April8]
  2. http://www.mims.com/thailand/drug/info/xipamide/?type=brief&mtype=generic[2017,April8]
  3. http://www.mims.com/india/drug/info/xipamid/xipamid%20tab[2017,April8]
  4. https://www.drugs.com/international/xipamide.html[2017,April8]