ซิทาฟลอกซาซิน (Sitafloxacin)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาซิทาฟลอกซาซิน(Sitafloxacin หรือ Sitafloxacin hydrate) เป็นยาปฏิชีวนะในกลุ่ม Fluoroquinolones มีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด อาทิเช่น Staphylococcus sp, Streptococcus sp, Streptococcus, Pneumoniae, Enterococcus species(sp), Moraxella arrhalis, Escherichia coli, Citrobacter sp, Klebsiella sp, Enterobacter sp, Serratia sp, Proteus sp Morganella morganii , Haemophilus influenzae, Pseudomonas aeruginosa, Legionella pneumophila, Peptostreptococcus sp Prevotella sp, Porphyromonas sp, Fusobacterium sp, Chlamydia trachomatis, Chlamydophila pneumoniae และ Mycoplasma pneumoniae

วัตถุประสงค์ที่นักวิทยาศาสตร์พัฒนายาซิทาฟลอกซาซินขึ้นมาก็เพื่อรองรับการดื้อยาของเชื้อแบคทีเรียหลายสายพันธุ์นั่นเอง ยาซิทาฟลอกซาซินเป็นที่ยอมรับและขึ้นทะเบียนยาในประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี ค.ศ.2008 (พ.ศ.2551) ขณะนั้นทางคลินิกได้นำยานี้มารักษาอาการป่วยจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น หลอดลมอักเสบ,ทอนซิลอักเสบ, หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน, ปอดบวม, การติดเชื้อทุติยภูมิ(โรคติดเชื้อที่เป็นผลจากการติดเชื้อครั้งแรก/Secondary diseaseของโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง, กระเพาะปัสสาวะอักเสบ, กรวยไตอักเสบ, ท่อปัสสาวะอักเสบ, ปากมดลูกอักเสบ, โรคหูน้ำหนวก

รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาซิทาฟลอกซาซินเป็นยาชนิดรับประทาน โดยตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ในตัวแบคทีเรียที่ชื่อว่า DNA gyrase และ Topoisomerase IV ส่งผลให้แบคทีเรียไม่สามารถสร้างสารพันธุกรรม ทำให้หยุดการเจริญเติบโตและหมดความสามารถในการขยายพันธุ์ ขนาดและระยะเวลาของการรับประทานยาชนิดนี้มีตั้งแต่ครั้งละ 50–100 มิลลิกรัม เช้า-เย็น เป็นเวลา 3–14 วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของแบคทีเรียแต่ละชนิดที่มีความแตกต่างกันออกไป ผู้ป่วยต้องรับประทานยานี้ต่อเนื่องจนครบเทอมการรักษาตามคำสั่งแพทย์ ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันมิให้เกิดการดื้อยาของแบคทีเรียที่ก่อโรคนั่นเอง

*กรณีที่ร่างกายได้รับยาซิทาฟลอกซาซินเกินขนาด จะเกิดการกระตุ้นร่างกายทำให้ผู้ป่วยมีอาการผื่นแพ้แสงแดด/แสงยูวีได้ง่ายยิ่งขึ้น สตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตรและเด็ก จัดเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการใช้ยาซิทาฟลอกซาซินที่จะเกิดผลข้างเคียงจากยานี้ที่รุนแรง แพทย์มักจะหลีกเลี่ยงไม่ใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว

สำหรับผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคประจำตัวบางประเภทเมื่อได้รับยาซิทาฟลอกซาซินอาจทำให้อาการของโรคประจำตัวต่างๆเหล่านั้นกำเริบขึ้นมาได้ อย่างเช่น โรคลมชัก ผู้ป่วยด้วยโรคตับ โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังพบรายงานทางคลินิกว่า ยาซิทาฟลอกซาซินสามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ต่อระบบการทำงานของร่างกายได้หลายระบบ อาทิเช่น ระบบประสาท ระบบทางเดินอาหาร ตับ ผิวหนัง หัวใจ กล้ามเนื้อตลอดจนกระทั่งสภาพทางจิตใจของผู้ป่วย อาการข้างเคียงหลายอย่างจะ หายได้เองโดยไม่ต้องใช้ยารักษาเมื่อผู้ป่วยหยุดใช้ยานี้

กรณีผู้ป่วยมีอาการข้างเคียงจากยาซิทาฟลอกซาซินอย่างรุนแรง เช่น มีภาวะดีซ่าน หัวใจเต้นเร็ว ปวดกล้ามเนื้อรุนแรง โลหิตจาง กรณีเหล่านี้ต้องหยุด การใช้ยานี้ แล้วรีบมาพบแพทย์ทันที

ยาซิทาฟลอกซาซินยังสามารถก่อให้เกิดภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา) กับยารักษาโรคประเภทอื่นได้เช่นเดียวกับยาอื่นทั่วไป เช่น ผู้ป่วยต้องหลีกเลี่ยงการรับประทานยาซิทาฟลอกซาซิน ร่วมกับยาลดกรดที่มีส่วนประกอบของอะลูมิเนียม(เช่นยา Aluminium hydroxide) หรือแมกนีเซียม(เช่นยา Magnesium sulfate) ด้วยจะทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาของยาซิทาฟลอกซาซินด้อยลง หรือห้ามรับประทานยาซิทาฟลอกซาซินร่วมกับยากลุ่ม NSAIDs ที่เป็นอนุพันธ์ของ Phenylacetic acid/Propionic acid (เช่นยา Diclofenac ) ด้วยจะทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการชักตามมา

ในประเทศไทยมีการจำหน่ายยาซิทาฟลอกซาซิน ภายใต้ชื่อการค้าว่า “Gracevit” ซึ่งคณะกรรมการอาหารและยาได้ระบุให้ยาชนิดนี้เป็นยาควบคุมพิเศษและมักจะพบเห็นการใช้อยู่ในสถานพยาบาล และต้องถูกสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น ประชาชนทั่วไปไม่สามารถซื้อหายานี้มารับประทานได้ด้วยตนเอง

อนึ่ง หากผู้ป่วยต้องการทราบข้อมูลการใช้ยาซิทาฟลอกซาซิน เพิ่มเติม ผู้บริโภค/ผู้ป่วยสามารถสอบถามได้จาก แพทย์ เภสัชกร ในสถานพยาบาลที่เข้ารับการรักษา หรือสอบถามได้จากเภสัชกรทั่วไป

ซิทาฟลอกซาซินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ซิทาฟลอกซาซิน

ยาซิทาฟลอกซาซินใช้บำบัดรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียที่ตอบสนองต่อยานี้ เช่น

  • โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ท่อปัสสาวะอักเสบ
  • โรคติดเชื้อที่ไต เช่น กรวยไตอักเสบ
  • โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ เช่น หลอดลมอักเสบ ต่อมทอนซิลอักเสบ ปอดบวม ไซนัสอักเสบ
  • โรคติดเชื้อในช่องปาก เช่น เหงือกอักเสบ โรคปริทันต์อักเสบ(เหงือกและฟันอักเสบรุนแรง)
  • โรคติดเชื้อของทางเดินสืบพันธุ์ เช่น ปากมดลูกอักเสบ
  • โรคติดเชื้อของหู เช่น โรคหูน้ำหนวก หูชั้นกลางอักเสบ

ซิทาฟลอกซาซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธ์ของยาซิทาฟลอกซาซินคือ ตัวยาจะยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ในแบคทีเรียที่มีชื่อว่า DNA gyrase และ Topoisomerase IV มีผลให้แบคทีเรียไม่สามารถจำลองและสร้างสารพันธุกรรมของตัวมันเอง ส่งผลชะลอการเจริญเติบโตและทำให้แบคทีเรียตายลงในที่สุด

ซิทาฟลอกซาซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาซิทาฟลอกซาซินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทานที่มีส่วนประกอบของ Sitafloxacin hydrate 50 มิลลิกรัม/เม็ด

ซิทาฟลอกซาซินมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาซิทาฟลอกซาซินมีขนาดรับประทาน เช่น

ก.สำหรับ หลอดลมอักเสบ ทอลซิลอักเสบ เหงือกอักเสบ:

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยาครั้งละ 50 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น เป็นเวลา 3–7 วัน

ข.สำหรับปอดบวม ท่อปัสสาวะอักเสบ ปากมดลูกอักเสบ ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยาครั้งละ 50 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น เป็นเวลา 7 วัน

ค.สำหรับกระเพาะปัสสาวะอักเสบเฉียบพลัน:

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยาครั้งละ 50 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น เป็นเวลา 3 วัน

ง.สำหรับกรวยไตอักเสบเฉียบพลัน (Acute pyelonephritis):

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยาครั้งละ 50 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น เป็นเวลา 7–14 วัน

อนึ่ง:

  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็ก จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
  • สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
  • ถึงแม้อาการป่วยจะดีขึ้น ผู้ป่วยต้องรับประทานยาจนครบตามคำสั่งแพทย์
  • หากพบอาการข้างเคียงรุนแรง หรือมีอาการแพ้ยานี้ เช่น มีผื่นขึ้นตามร่างกาย ใบหน้าบวม อึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ต้องหยุดใช้ยานี้ แล้วรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาซิทาฟลอกซาซิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคลมชัก โรคตับ โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาซิทาฟลอกซาซินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาซิทาฟลอกซาซิน สามารถรับประทานยาทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไปไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็นสองเท่า ให้รับประทานในขนาดปกติ

ซิทาฟลอกซาซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาซิทาฟลอกซาซินสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา( ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น มีอาการท้องเสีย
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น อาจเกิดอาการชัก
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น Stevens-Johnson syndrome
  • ผลต่อระบบกล้ามเนื้อและกระดูก: เช่น ปวดเส้นเอ็น ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อลายสลาย
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น น้ำตาลในเลือดต่ำ
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดภาวะเลือดจาง/โลหิตจาง
  • ผลต่อตับ: เช่น ตัวเหลืองตาเหลือง ดีซ่าน
  • ผลต่อไต: เช่น ไตวายเฉียบพลัน
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น หัวใจเต้นเร็ว
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น รู้สึกสับสน ประสาทหลอน

มีข้อควรระวังการใช้ซิทาฟลอกซาซินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาซิทาฟลอกซาซิน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้ และแพ้ยาในกลุ่ม Fluoroquinolones
  • ห้ามใช้ยากลุ่มนี้กับ เด็ก วัยรุ่น สตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เม็ดยาแตกหัก สีเม็ดยาเปลี่ยน
  • ห้ามรับประทานยาร่วมกับเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ด้วยจะส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงจากยานี้ที่รุนแรง
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง และต้องใช้ยานี้ตามขนาดรับประทานที่แพทย์สั่ง
  • หากเกิดอาการข้างเคียงที่รบกวนการดำรงชีวิตประจำวัน ให้รีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล โดยไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • ระหว่างการใช้ยานี้ ให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดโดยตรงด้วยอาจเกิดการ กระตุ้นผิวหนังให้เกิดผื่นแพ้แสงแดดได้ง่าย
  • ระวังการใช้ยานี้กับ ผู้ป่วยโรคตับ ผู้ป่วยที่เป็นโรคลมชัก เพราะอาจทำให้อาการของผู้ป่วยรุนแรงมากขึ้น
  • กรณีที่ใช้ยานี้แล้วไม่ได้ผลในระยะเวลาที่แพทย์แนะนำ ให้รีบกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลอีกครั้ง เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา และต้องปฏิบัติตามคำสั่ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาซิทาฟลอกซาซินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ซิทาฟลอกซาซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาซิทาฟลอกซาซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การรับประทานยาซิทาฟลอกซาซินร่วมกับยาลดกรดที่มีเกลืออะลูมิเนียม (เช่นยา Aluminium hydroxide) หรือ แมกนีเซียม (เช่นยา Magnesium sulfate)เป็นส่วนผสม จะลดการดูดซึมของยาซิทาฟลอกซาซินจากระบบทางเดินอาหาร หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน ควรเว้นระยะเวลาการรับประทานให้ห่างกัน 2–4 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ
  • การรับประทานยาซิทาฟลอกซาซินร่วมกับยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs อาจทำให้เกิด การกระตุ้นสมองจนเกิดภาวะลมชักติดตามมา หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรเลี่ยงการใช้ ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษาซิทาฟลอกซาซินอย่างไร?

ยาซิทาฟลอกซาซินมีอายุการเก็บรักษานาน 24 เดือน หลังวันที่ผลิต ควรเก็บยานี้ภายใต้อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น

ซิทาฟลอกซาซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาซิทาฟลอกซาซิน ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Gracevit (กราซีวิต)Daiichi Sankyo

บรรณานุกรม

  1. file:///C:/Users/apai/Downloads/f_3267-CMT-Bacterial-Infections-in-the-Elderly-Patient-Focus-on- Sitafloxacin.pdf_4425.pdf[2017,June10]
  2. http://www.mims.com/thailand/drug/info/gracevit/?type=brief [2017,June10]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Sitafloxacin[2017,June10]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Quinolone#Fourth-generation[2017,June10]