ซิงค์ อะซีเตท (Zinc acetate)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือยาอะไร?

ซิงค์-อะซีเตท (Zinc acetate) คือ ยาที่เป็นสารประกอบประเภทเกลือของธาตุสังกะสี ที่ใช้บำบัดรักษาภาวะขาดสังกะสี, ใช้ผสมในยาลูกอมรักษาอาการโรคหวัด, ยานี้ยังมีฤทธิ์ ฆ่าเชื้อโรคที่ผิวหนังในรูปแบบของยา ขี้ผึ้ง ครีม และ โลชั่น, ใช้ทำเป็นยารักษาสิวชนิดทา, และยาต่อต้านอาการผดผื่นคัน, หรือใช้รักษาภาวะคั่งของธาตุทองแดงในร่างกาย (Wilson’s disease), และยังถูกนำมาเป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์อาหารเสริม, รูปแบบยา นอกจากใช้ภายนอกดังกล่าว ยังมีในรูปแบบยารับประทานด้วย  

ร่างกายมนุษย์สามารถดูดซึมธาตุสังกะสีได้ดีที่ระดับพีเอช/ค่าความเป็นกรดด่าง (pH) อยู่ที่ตั้งแต่ 3 ลงมา,  อาหารต่างๆจะเป็นตัวรบกวนการดูดซึมธาตุสังกะสีได้อย่างมาก, ‘แพทย์จึงแนะนำให้รับประทานยาต่างๆที่มีสังกะสีเป็นองค์ประกอบ (เช่น ยายาซิงค์อะซีเตท) ในขณะที่ท้องว่าง’ 

ข้อจำกัดการใช้ยาซิงค์-อะซีเตท และยาประเภทมีธาตุสังกะสีเป็นองค์ประกอบที่ผู้บริโภคควรทราบมีดังนี้ เช่น

  • ไม่เหมาะกับผู้ที่แพ้ยานี้ หรือแพ้ส่วนประกอบในสูตรตำรับของยาซิงค์อะซีเตท
  • การใช้ยาชนิดต่างๆกับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร  ล้วนแล้วแต่มีข้อควรระวังมากเป็นพิเศษ ซึ่งรวมยาในซิงค์อะซีเตทด้วยเช่นกัน
  • การรับประทานยาซิงค์ อะซีเตทร่วมกับอาหารเสริมที่มีธาตุสังกะสี หรือมียาซิงค์- อะซีเตทอยู่แล้ว อาจทำให้ร่างกายได้รับธาตุสังกะสีมากเกินไปจนก่อให้เกิดพิษต่อร่างกายโดยสามารถสังเกตได้จากจะมีอาการ คลื่นไส้อาเจียน  ปวดตามร่างกาย  เป็นตะคริว และมีท้องเสียร่วมด้วย

ยาซิงค์-อะซีเตท ยังสามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) กับร่างกายคล้ายกับยาชนิดอื่นๆ ได้เช่นเดียวกัน อาการข้างเคียงที่พบได้เป็นปกติของยาชนิดนี้ คือ ทำให้มีภาวะ คลื่นไส้อาเจียน ดังนั้นการใช้ยาซิงค์ อะซีเตท จึงควรต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์เท่านั้น ผู้บริโภคที่มีคำถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้ยานี้ สามารถสอบถามข้อมูลได้จากแพทย์ผู้รักษา หรือจากเภสัชกรในสถานพยาบาลและตามร้านขายยาได้โดยทั่วไป

ซิงค์ อะซีเตทมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

ซิงค์-อะซีเตท

 

ยาซิงค์-อะซีเตทมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • รักษาภาวะคั่งของธาตุทองแดงในร่างกาย (Wilson’s disease)
  • บำบัดรักษาภาวะขาดสังกะสี
  • เป็นส่วนประกอบในยาลูกอมสำหรับรักษาอาการโรคหวัด
  • เป็นส่วนประกอบในยาทาประเภทขี้ผึ้ง โลชั่น ครีม สำหรับรักษาอาการผดผื่นคัน/ผดร้อน สิว และทาฆ่าเชื้อในบริเวณผิวหนัง

ซิงค์ อะซีเตทมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ตัวอย่างกลไกการออกฤทธิ์ของยาซิงค์-อะซีเตท เช่น

ก. สำหรับบำบัดภาวะทองแดงคั่งในร่างกาย: ธาตุสังกะสีในยาซิงค์ อะซีเตทจะออกฤทธิ์ยับยั้งการดูดซึมธาตุทองแดงจากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่ร่างกาย และทำให้ตับมีเวลาในการกำจัดธาตุทองแดงส่วนเกินออกจากกระแสเลือด จึงช่วยลดธาตุทองแดงในกระแสเลือดลงได้

ข. สำหรับชดเชยผู้ที่ขาดธาตุสังกะสี: ตัวยาซิงค์ อะซีเตทจะปลดปล่อยธาตุสังกะสีเพื่อให้ร่างกายนำไปใช้ประโยชน์ในการเจริญเติบโตของเซลล์ต่างๆ  จึงทำให้ภาวะขาดสังกะสีของร่างกายดีขึ้นเป็นลำดับ

ค. สำหรับทาผิวหนัง: ซิงค์ อะซีเตทในรูปแบบของยาทาผิวหนังจะมีฤทธิ์ฝาดสมานแผล/รักษาแผลให้หายไวขึ้น หรือทำให้เกิดการตกตะกอนโปรตีนของเซลล์เชื้อโรคต่างๆ ทำให้แบคทีเรียหรือเชื้อโรคดังกล่าวหยุดการแพร่พันธุ์   

จากกลไกดังกล่าวมาทั้งหมด จึงก่อให้เกิดฤทธิ์การรักษาของยาซิงค์อะซีเตทตามสรรพคุณ

ซิงค์ อะซีเตทมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาซิงค์-อะซีเตท มีรูปแบบการจัดจำหน่าย:   

  • ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ขนาด 25 และ 50 มิลลิกรัม/แคปซูล หรือ 25,000 หรือ 50,000 ไมโครกรัม/แคปซูล
  • ยาใช้ภายนอก/ยาทาผิวหนัง ได้แก่ โลชั่น, ยาขี้ผึ้ง, ยาครีม

ซิงค์ อะซีเตทมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ในบทความนี้ ขอยกตัวอย่างขนาดการใช้ยาซิงค์-อะซีเตท: เช่น

ก. สำหรับบำบัดรักษาภาวะทองแดงคั่งในร่างกาย (Wilson’s disease):

  • ผู้ใหญ่อายุมากกว่า 18 ขึ้นไป: เช่น รับประทานยาครั้งละ 50 มิลลิกรัม, วันละ 3 ครั้ง, ก่อนอาหาร 1 ชั่วโมง หรือ หลังอาหาร 2 -3 ชั่วโมง
  • เด็กอายุ 5 – 18 ปี ที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 50 กิโลกรัม: เช่น รับประทานยาครั้งละ 25 มิลลิกรัม, วันละ 3 ครั้ง, ก่อนอาหาร
  • เด็กอายุ 5 – 18 ปี ที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า 50 กิโลกรัม: เช่น  รับประทานยาครั้งละ 50 มิลลิกรัม, วันละ 3 ครั้ง, ก่อนอาหาร
  • เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกมาสนับสนุนการใช้ยาซิงค์อะซีเตทเพื่อรักษาภาวะทองแดงคั่งในร่างกายของเด็กอายุวัยนี้ การใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มวัยนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

ข. สำหรับภาวะร่างกายขาดธาตุสังกะสี:

  • เด็กที่คลอดก่อนกำหนด: เช่น รับประทาน 400 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน, โดยแบ่งรับประทานวันละ 2-3 ครั้งตามคำสั่งแพทย์
  • เด็กอายุน้อยกว่า 3 เดือนลงมา: เช่น รับประทาน 300 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน, โดยแบ่งรับประทานวันละ 2-3 ครั้ง ตามคำสั่งแพทย์
  • เด็กอายุตั้งแต่ 3 เดือน – 5 ปี: เช่น รับประทาน 100 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน, โดยแบ่งรับประทานวันละ 2-3 ครั้ง ตามคำสั่งแพทย์, ในช่วงวัยนี้ห้ามรับประทานยานี้เกิน 5 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็กอายุมากกว่า 5 ปี – วัยรุ่น: เช่น รับประทาน 2.5 – 5 มิลลิกรัม/วัน, โดยแบ่งรับประทานวันละ 2-3 ครั้ง ตามคำสั่งแพทย์
  • ผู้ใหญ่: การใช้ยาซิงค์ อะซีเตท ชนิดรับประทานกรณีร่างกายขาดธาตุสังกะสีของผู้ใหญ่ แพทย์ผู้รักษาจะเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมในการใช้ยานี้เป็นกรณีๆไป

ค. สำหรับซิงค์-อะซีเตทชนิดทาผิวหนังเพื่อรักษา ผด ผื่นคัน สิว หรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรค: เช่น แพทย์อาจให้ทายา 1-3 ครั้ง/วัน ทั้งนี้ขึ้นกับความรุนแรงของโรค, องค์ประกอบของยานี้แต่ละสูตรตำรับ, รวมถึงวัยของผู้ป่วยแต่ละราย

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยา ซิงค์-อะซีเตท ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร เช่น              

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา หรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาซิงค์อะซีเตท อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ และ/หรือกับอาหารเสริมที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยา/ใช้ยาซิงค์-อะซีเตท สามารถรับประทาน/ใช้ยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยา/ใช้ยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตาม เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยา/ใช้ ยาซิงค์ อะซีเตท ตรงเวลา

ซิงค์ อะซีเตทมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาซิงค์-อะซีเตท อาจก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

ก. ยาซิงค์-อะซีเตทชนิดรับประทาน: อาจก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ต่อระบบอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย   เช่น

  • ผลต่อการทำงานของตับ: เช่น อาจกระตุ้นให้มีการหลั่งเอนไซม์ตับบางชนิดในเลือด สูงขึ้น เช่น  Alkaline phosphatase
  • ผลต่อการทำงานของตับอ่อน: เช่น มีค่าเอนไซม์บางชนิดของตับอ่อนในเลือดสูงขึ้น เช่น Amylase และ Lipase
  • ผลต่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย: ทำให้การตอบสนองของร่างกายต่อภูมิคุ้มกันฯ ลดลง
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ทำให้ระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหาร หรือทำให้เกิดอาการ คลื่นไส้อาเจียน

ข. ยาซิงค์-อะซีเตทชนิดทาผิวหนัง: ด้วยเป็นยาใช้ภายนอก และใช้เป็นยาทาเฉพาะที่ ดังนั้นผลข้างเคียงที่อาจพบได้ จึงเกิดเฉพาะที่ที่ผิวหนังส่วนที่ทายานี้ เช่น การระคายเคือง บางครั้งอาจ แดง และมีอาการคันร่วมด้วย, นอกจากนั้น ถ้าทายานี้บ่อย และ/หรือใช้ในปริมาณมาก หรือใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจทำให้ผิวหนังส่วนสัมผัสยาเกิดภาวะ ผิวแห้ง และ/หรือผิวลอกได้

มีข้อควรระวังการใช้ซิงค์ อะซีเตทอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาซิงค์-อะซีเตท ทั้งชนิดรับประทานและชนิดทาผิวหนัง เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้ และ/หรือแพ้ส่วนประกอบในส่วนสูตรตำรับของยา ซิงค์อะซีเตท
  • ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก  โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์  
  • ห้ามปรับขนาดรับประทาน /หรือขนาดการทายานี้หรือหยุดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
  • กรณีเป็นยาทา ห้ามไม่ให้ยานี้เข้าตา หรือ เข้าปาก
  • หากมีอาการแพ้ยาหลังใช้ยานี้ เช่น  อึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก  มีผื่นคันตามผิวหนัง  ตัวบวม   ต้องหยุดการใช้ยานี้ทันที แล้วรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ทันที/ฉุกเฉิน
  • ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาซิงค์-อะซีเตท) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ซิงค์ อะซีเตทมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาซิงค์-อะซีเตทมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

ก. ยาซิงค์-อะซีเตทชนิดรับประทาน:

  • การใช้ยาซิงค์ อะซีเตท ร่วมกับยาบางกลุ่ม อาจทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของยากลุ่มดังกล่าวด้อยลงไป  หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน, ซึ่งยากลุ่มดังกล่าว เช่น ยา  Warfarin, Methyltestosterone, Penicillamine, และ Risedronate
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาซิงค์ อะซีเตท ร่วมกับยา Ofloxacin, Moxifloxacin,  ด้วยจะทำให้การดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารของยา Ofloxacin และ Moxifloxacin ลดน้อยจนส่งผลต่อประสิทธิภาพในการรักษา

ข. ยาซิงค์-อะซีเตทชนิดทาผิวหนัง: เนื่องจากเป็นยาใช้ภายนอกและใช้เฉพาะที่เท่านั้น ทางคลินิกจึงยังไม่มีรายงานการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยานี้กับยารับประทานชนิดใดๆ

ควรเก็บรักษาซิงค์ อะซีเตทอย่างไร?

ควรเก็บยาซิงค์-อะซีเตททั้งชนิดรับประทานและชนิดทาผิวหนัง: เช่น

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือรถยนต์

ซิงค์ อะซีเตทมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาซิงค์-อะซีเตท ยาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Galzin (แกลซิน) Lemon Company
Ivy-Dry Cream (ไอวี่-ดราย ครีม) Ivy Dry, Inc

 

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Zinc_acetate [2023,April15]
  2. https://www.drugs.com/mtm/zinc-acetate.html [2023,April15]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Zinc_toxicity [2023,April15]
  4. http://ivydry.com/msds/Ivy-Dry_Cream_MSDS_2016.pdf  [2023,April15]
  5. https://www.drugs.com/dosage/zinc-acetate.html [2023,April15]
  6. https://www.drugs.com/drug-interactions/avelox-with-zinc-acetate-1659-1031-2324-0.html   [2023,April15]
  7. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/nda/97/020458ap.pdf [2023,April15]