ซิการ์น้อย (ตอนที่ 2 และตอนจบ)

รสชาติสามารถปกปิดความร้ายแรงของยาสูบ ดังนั้นการทำยาสูบให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีรสชาติจึงเป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่น ซึ่งอาจทำให้วัยรุ่นติดยาสูบไปตลอดชีวิต โดยเฉพาะรสเมนทอลที่มักจะใช้ในบุหรี่ทำให้ติดและเลิกยาก

เพราะรูปร่าง ขนาด ที่กรอง และบรรจุภัณฑ์ของบุหรี่และซิการ์น้อยไม่ค่อยแตกต่างกันนัก ดังนั้นจึงมีการโฆษณาอยู่เป็นประจำว่าซิการ์น้อยเป็นทางเลือกของการสูบที่ถูกกว่า ซึ่งจากหลักฐานการวิจัยของอุตสาหกรรมยาสูบพบว่า ผู้ใหญ่ที่สูบบุหรี่และซิการ์น้อยที่สามารถแยกความแตกต่างระหว่าง 2 ชนิดได้นั้นมีจำนวนน้อยมาก นอกจากนี้หลายคนยังคิดว่าซิการ์น้อยเป็นบุหรี่ชนิดใหม่ที่ออกมาในยี่ห้อใหม่

แต่ในความจริงแล้ว ซิการ์ประกอบด้วยสารพิษ (Toxin) และส่วนประกอบที่ก่อให้เกิดมะเร็ง (Carcinogenic compounds) เช่นเดียวกับบุหรี่ ไม่ได้มีความปลอดภัยมากกว่ากันเลย คนที่สูบซิการ์เป็นประจำมีความเสี่ยงสูงในการเกิดมะเร็งที่ปอด กล่องเสียง ช่องปาก และหลอดอาหาร เช่นกัน

นอกจากนี้ในแต่ละวันคนที่สูดซิการ์เข้าไปมากๆ ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary heart disease) และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic obstructive pulmonary disease = COPD)

จากข้อมูลทางภาษีของอเมริกันพบว่า แม้ว่าการบริโภคบุหรี่จะลดลงร้อยละ 32.8 ในระหว่าง พ.ศ. 2543-2554 แต่การบริโภคยาสูบอื่น เช่น ซิการ์ และ ยาสูบแห้ง (Loose tobacco) กลับเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 123.1 ในช่วงเวลาเดียวกัน พฤติกรรมการสูบซิการ์เปลี่ยนไปไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้ใหญ่ แต่เด็กวัยรุ่นกลับมีอัตราการสูบซิการ์ที่มากกว่าผู้ใหญ่เสียอีก

จากการสำรวจวัยรุ่นอเมริกันที่ตีพิมพ์โดยวารสาร The Journal of Adolescent Health พบว่า มากกว่า 1 ใน 3 หรือร้อยละ 35.4 ของวัยรุ่นที่สูบบุหรี่ในปัจจุบันกล่าวว่า เขาใช้บุหรี่ที่มีรสชาติ (Flavored cigarettes) ซึ่งรวมถึงรสเมนทอลหรือซิการ์น้อยที่วัยรุ่นคิดว่าเป็นบุหรี่ และเมื่อรวมกับจำนวนผู้สูบซิการ์ในปัจจุบันแล้วยอดดังกล่าวได้เพิ่มเป็นร้อยละ 42.4

ในปี พ.ศ.2552 องค์การอาหารและยาของอเมริกา (The U.S. Food and Drug Administration = FDA) ได้สั่งห้ามบุหรี่ที่มีรสลูกกวาดและผลไม้ แต่ไม่ได้ห้ามบุหรี่รสเมนทอล ในเดือนกรกฎาคม FDA ได้ระบุว่าบุหรี่รสเมนทอลเป็นสาเหตุให้วัยรุ่นเริ่มหัดสูบบุหรี่ ติดบุหรี่ และเลิกบุหรี่ได้ยาก

แต่ซิการ์น้อยที่มีรสลูกกวาดกลับไม่ได้รับคำสั่งห้าม ดังนั้นจึงกลายเป็นสิ่งที่นิยมไม่เพียงแต่ในหมู่วัยรุ่นเท่านั้นยังรวมถึงผู้ใหญ่ด้วย จากการสำรวจของรัฐบาลอเมริกันพบว่า 2 ใน 5 คน ของผู้ใหญ่ที่สูบซิการ์ใช้ซิการ์ที่มีรสในระหว่างปี พ.ศ.2552-2553 ดังนั้นเพื่อเป็นการปิดช่องโหว่รัฐบาลจึงควรสั่งห้ามซิการ์ชนิดนี้ด้วย

ทางเลือกอื่นที่จะช่วยป้องกันและลดการใช้ยาสูบในกลุ่มเด็กวัยรุ่น ก็คือ การรณรงค์จำกัดการโฆษณาและการสนับสนุนการใช้ยาสูบ การเพิ่มราคาของผลิตภัณฑ์ยาสูบ และการลดโอกาศการเข้าถึงยาสูบด้วยการซื้อโดยเด็กวัยรุ่น

Tom Frieden กล่าวอีกว่า ซิการ์มีรสหรือไม่มีรสก็ตามล้วนก่อให้เกิดปัญหากับสุขภาพ ซิการ์น้อยที่มีรสและเป็นที่นิยมในหมู่เด็กวัยรุ่นและการใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบต่างๆ อาจเป็นเหตุให้ดูไม่สวยหรือหล่อ (Disfigurement) ไร้ความสามารถ (Disability) และเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ดังนั้นเราจึงควรใช้ทุกวิถีทางที่จะลดการใช้ยาสูบในเด็กวัยรุ่น

แหล่งข้อมูล:

  1. Flavored-Little-Cigar and Flavored-Cigarette Use Among U.S. Middle and High School Students. http://www.jahonline.org/article/S1054-139X%2813%2900415-1/fulltext [2013, October 31].
  2. Can you tell the difference between a cigarette and little cigar? http://www.usatoday.com/story/news/nation/2013/10/22/youth-smokers-flavored-cigarettes-little-cigars/3151593/ [2013, October 31].
  3. More than 40 percent of middle and high schoolers who smoke use flavored little cigars or flavored cigarettes. http://www.cdc.gov/media/releases/2013/p1022-flavored-cigarettes.html?utm_source=rss&utm_medium=rss&utm_campaign=more-than-40-percent-of-middle-and-high-schoolers-who-smoke-use-flavored-little-cigars-or-flavored-cigarettes [2013, October 30].