ช่วยหนูจากปอดบวมด้วย ! (ตอนที่ 5 และตอนจบ)

องค์การ อนามัยโลก และองค์กรพันธมิตรวันปอดบวมโลก (World Pneumonia Day Coalition) ซึ่งก่อตั้งมาจาก 125 องค์กรสุขภาพทั่วโลก จึงร่วมกันก่อตั้งและรณรงค์ "วันปอดบวมโลก" ซึ่งตรงกับวันที่ 12 พฤศจิกายน ของทุกปี ในวันเดียวกันของปีนี้ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับชมรมโรคระบบหายใจและเวชบำบัดวิกฤตในเด็กแห่งประเทศไทย จัดงานรณรงค์ ภายใต้แนวคิด "Fight Pneumonia, Save a Child"

โดยทั่วไป มีหลายวิธีที่สามารถป้องกันการเป็นโรคปอดบวมได้ กล่าวคือ

  • เลิกสูบบุหรี่ ยิ่งสูบมากยิ่งมีโอกาสเป็นมาก
  • หลีกเลี่ยงคนที่มีเชื้อซึ่งอาจทำให้เกิดโรคปอดบวมได้ เช่น คนที่เป็นหวัดหรือไข้หวัดใหญ่ คนที่ติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ คนที่เป็นโรคหัดหรืออีสุกอีใส (กรณีที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคนี้มาก่อน)
  • ล้างมือให้บ่อยๆ เพราะจะช่วยลดการแพร่เชื้อไวรัสและแบคทีเรียซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรค

ปัจจุบันมีวัคซีนที่ใช้ป้องกันโรค โดยวัคซีนที่ใช้ในเด็กเรียกว่า วัคซีนป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอคคัสชนิดคอนจูเกต (Pneumococcal conjugate vaccine = PCV) ส่วนวัคซีนที่ใช้ในผู้ใหญ่ที่อายุ 65 ปี ขึ้นไป (ซึ่งเป็นคนที่สูบบุหรี่และมีโรคเรื้อรัง) เรียกว่า วัคซีนป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอคคัสชนิดโพลีแซคคาไรต์ (Pneumococcal polysaccharide vaccine = PPSV)

การดูแลตัวเองเป็นสิ่งสำคัญของการฟื้นจากโรคปอดบวม โดย . . .

  • พักผ่อนให้มาก ดื่มน้ำหรือของเหลวให้มากเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ (Dehydration)
  • ระวังการไอ การไอเป็นวิธีหนึ่งที่ร่างกายใช้กำจัดเชื้อ ดังนั้นอย่าห้ามการไอ นอกเสียจากว่ามีอาการรุนแรงจนทำให้การหายใจลำบาก อาเจียน หรือพักผ่อนไม่ได้
  • อาจกินยาแก้ปวดพาราเซตามอลหรือแอสไพรินเพื่อลดไข้ แต่ห้ามให้แอสไพรินในคนที่อายุน้อยกว่า 20 ปี เพราะอาจเป็นโรครายส์ซินโดรม (Reye's Syndrome) ทั้งนี้ ควรระวังการใช้ยาแก้ไอและยาแก้หวัดในเด็กหรือคนที่มีปัญหาสุขภาพ โดยให้ปริมาณตามอายุและน้ำหนัก

กรณีที่มีปัญหาเรื่องการหายใจหรือปัญหาเกี่ยวกับปอด อาจจำเป็นต้องให้ออกซิเจนหรือเครื่องช่วยหายใจ (Inhaler) หรือเครื่องพ่นละออง (Nebulizer) เพื่อช่วยเรื่องการหายใจลำบากและมีเสียงฟืดฟาดหรือฮืดฮาด

หากมีอาการแย่ลง หรือมีอาการโรคแทรกซ้อน ควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล ซึ่งโรงพยาบาลอาจจะดำเนินการ . . .

  • ให้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือด
  • ให้ของเหลวผ่านทางหลอดเลือด กรณีที่ไม่สามารถรับประทานเองได้เนื่องจากการอ่อนเพลียหรือหายใจสั้น
  • รักษาระบบทางเดินหายใจ โดยเอาเสมหะออกจากปอด ซึ่งอาจรวมถึงวิธีการฝึกการหายใจแบบลึก (Deep Breathing Exercise) การระบายเสมหะตามอิริยาบถ (Postural Drainage) การตรวจสมรรถภาพปอด(Spirometry) และการทำกายภาพบำบัดทรวงอก (Chest physiotherapy) ซึ่งเป็นการใช้มือหรือเครื่องมือที่ทำให้ทรวงอกกระเทือนและเสมหะหลุด
  • ให้ออกซิเจน (Oxygen therapy) หากแพทย์เห็นว่าร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ

แหล่งข้อมูล:

  1. Pneumonia - Exams and Tests. http://www.webmd.com/lung/tc/pneumonia-exams-and-tests [2012, December 8].
  2. Pneumonia – Prevention. http://www.webmd.com/lung/tc/pneumonia-prevention [2012, December 8].
  3. Pneumonia - Home Treatment. http://www.webmd.com/lung/tc/pneumonia-home-treatment [2012, December 8].
  4. Pneumonia - Other Treatment. http://www.webmd.com/lung/tc/pneumonia-other-treatment [2012, December 8].