ช่วยหนูจากปอดบวมด้วย ! (ตอนที่ 2)

ศ.เกียรติคุณ นพ.ธีรชัย ฉันทโรจน์ศิริ กล่าวว่า การติดเชื้ออาจเริ่มในระบบทางเดินหายใจส่วนบนก่อน เช่นไข้หวัด ไอ จาม มีไข้ และมีน้ำมูกไหล แต่หากปล่อยให้เป็นหวัดเรื้อรัง อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองที่เยื่อบุโพรงจมูก และเยื่อบุลำคอ ซึ่งมีเชื้อแบคทีเรีย นิวโมคอคคัส และเชื้อเอ็นทีเอชไอ (Nontypable Haemophilus influenzae = NTHi) อาศัยอยู่

เชื้อดังกล่าวอาจหลุดไปยังอวัยวะต่างๆ และทำให้เกิดการอักเสบ และลุกลามจนเกิดโรคติดเชื้อรุนแรงตามมาได้ เช่น โรคหูชั้นกลางอักเสบ โรคปอดบวมรุนแรง โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นต้น โรคปอดบวมจะเป็นโรคที่มีอันตรายสูงรวมทั้งจะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นหลายเท่า หากเด็กมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องร่วมด้วย ตลอดจนเด็กที่อยู่รวมตัวกันหนาแน่น เช่น เด็กในโรงเรียนอนุบาล และสถานเลี้ยงเด็กกลางวัน เป็นต้น

อาการที่เกิดขึ้นของโรคปอดบวม อาจแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ประเภทแรกอาการปอดบวมที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งมักเป็นอย่างทันทีทันใดในผู้ที่อายุน้อยกว่า 65 ปี โดยเริ่มจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน (Upper respiratory infection) เช่น เป็นหวัด หรือไข้หวัดใหญ่ โดยมีอาการดังนี้

  • ไอมีเสมหะ เป็นสีสนิม หรือสีเขียว หรือมีเลือดปน
  • เป็นไข้
  • มีอาการหนาวสั่น ครั้งเดียวหรือหลายครั้ง
  • หายใจเร็ว ตื้น และสั้น
  • เจ็บหน้าอกอันเป็นผลมาจากการไอหรือการหายใจเข้า
  • หัวใจเต้นเร็ว
  • รู้สึกเหนื่อยและอ่อนเพลีย
  • มีอาการคลื่นไส้ (Nausea) และอาเจียน (Vomiting)
  • ท้องเสีย (Diarrhea)

ประเภทที่ 2 อาการปอดบวมที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย จะมีอาการค่อยๆ เป็น ทำให้ผู้ติดเชื้อไม่ค่อยรู้ตัวว่าติดเชื้อแล้ว อาการมีลักษณะดังนี้

  • เป็นไข้
  • ไอ
  • หายใจสั้น
  • มีเสมหะเล็กน้อยเวลาไอ

ผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่อาจมีอาการแตกต่างกัน หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย เช่น ไม่มีไข้ หรือไอแต่ไม่มีเสมหะ อาการหลักๆ ของโรคปอดบวมจะเห็นได้ชัดเมื่อผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่มีอาการสับสน หรือเพ้อ หรือมีอาการรุนแรงแล้ว ส่วนอาการที่เกิดในเด็กนั้นขึ้นกับอายุของเด็ก กล่าวคือ ทารกที่อายุน้อยกว่า 1 เดือน อาจไม่มีแรง เซื่องซึม เลี้ยงยาก มีเสียงฮึดฮัดในจมูก หรือเป็นไข้ ส่วนในเด็กทั่วไปจะมีอาการเหมือนผู้ใหญ่ เช่น ไอ และมีอัตราการหายใจมากกว่า 60 ครั้งต่อนาที

แหล่งข้อมูล:

  1. รณรงค์วันปอดบวมโลก ลดอัตราตายเด็กกลุ่มเสี่ยง http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROb1pXRXdNVEl3TVRFMU5RPT0=§ionid=TURNek1BPT0=&day=TWpBeE1pMHhNUzB5TUE9PQ== [2012, December 5].
  2. Pneumonia – Symptoms. http://www.webmd.com/lung/tc/pneumonia-symptoms [2012, December 5].