ช่วยด้วย! น้ำท่วมปอดคุณยาย (ตอนที่ 7 และตอนจบ)

เรายังสามารถลดความเสี่ยงสำหรับการเกิดภาวะน้ำท่วมปอด ได้จากการ :

  • กินอาหารที่มีประโยชน์ต่อหัวใจ ปลาเป็นอาหารที่ดีต่อหัวใจ มีกรดไขมันโอเมกา-3 (Omega-3 fatty acids) ซึ่งช่วยในการรักษาระดับคลอเลสเตอรอลและป้องกันการอุดตันของเส้นเลือด

    นอกจากนี้ควรกินผักและผลไม้ซึ่งมีสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidants) วิตามิน และเกลือแร่ ที่ช่วยป้องกันการ ชำรุดของหลอดเลือด จำกัดอาหารไขมันโดยเฉพาะไขมันอิ่มตัวจากสัตว์ (Saturated) และ ไขมันชนิดทรานส์ (Trans fats / Hydrogenated oils)

    ไขมันทรานส์ (Trans Fat) เป็นกรดไขมันที่เกิดจากกระบวนการแปรรูปกรดไขมันไม่อิ่มตัวให้กลายเป็นกรดไขมันอิ่มตัวสูง โดยการเติมไฮโดรเจนลงไปในน้ำมันพืช (Hydrogenation) เช่น น้ำมันปาล์ม น้ำมันถั่วเหลือง ทำให้มีลักษณะเป็นกึ่งของแข็ง เช่น มาร์การีนหรือเนยเทียม เนยขาว ครีมเทียม เป็นต้น

    เนื่องจากไขมันทรานส์เป็นไขมันที่เกิดจากการแปรรูป ซึ่งย่อยสลายได้ยากกว่าไขมันชนิดอื่น ทำให้ตับ ต้องสลายไขมันทรานส์ด้วยวิธีการที่แตกต่างไปจากการย่อยสลายไขมันตัวอื่น จึงอาจก่อให้เกิดสภาวะที่ ผิดปกติกับร่างกาย คือ

    (1) น้ำหนักและไขมันส่วนเกินเพิ่มมากขึ้น (2) มีภาวะการทำงานของตับที่ผิดปกติ และ (3)มีความเสี่ยงสูงที่ จะเป็น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (Coronary Heart Disease) โรคไขมันอุดตันในเส้นเลือด]

  • จำกัดปริมาณเกลือ กรณีเป็นโรคหัวใจหรือความดันโลหิตสูง การลดปริมาณเกลือ (Sodium) เป็นสิ่งที่สำคัญ บางคนที่มีหัวใจห้องล่างซ้ายเสียหายอย่างรุนแรง การได้รับเกลือในปริมาณที่มากเกิน แม้จะเป็นเพียงมื้อเดียวหรือมันฝรั่งทอด (Potato chips) เพียง 1 ถุง ก็อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจวายได้
  • ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ การออกกำลังการเป็นสิ่งสำคัญต่อหัวใจที่ดี การเต้นแอโรบิค ประมาณ 30 นาทีต่อวัน จะช่วยควบคุมความดันโลหิต ระดับคลอเลสเตอรอล และควบคุมน้ำหนักได้ อย่างไรก็ดีควรปรึกษาแพทย์ถึงโปรแกรมการออกกำลังกายก่อน
  • รักษาน้ำหนักให้สมดุล การปล่อยให้มีน้ำหนักมากจะเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคหลอดเลือดและหัวใจ (Cardiovascular disease) ในทางกลับกันการลดน้ำหนักได้เล็กน้อยก็สามารถลดความดันโลหิต คลอเลสเตอรอล และความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานได้
  • จัดการกับความเครียด การลดความเครียดช่วยลดความเสี่ยงในปัญหาที่เกี่ยวกับโรคหัวใจ

สำหรับการป้องกันภาวะน้ำท่วมปอดจากการอยู่ในพื้นที่สูง (HAPE) นั้น ในกรณีที่เดินทางหรือปีนไปอยู่ในที่สูง ให้ค่อยๆ ปรับตัวให้ชินกับอากาศ แม้ว่าจะมีคำแนะนำแตกต่างกันมากมาย แต่ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่แนะนำว่าในแต่ละวันไม่ควรขึ้นสูงมากกว่า 1,000 หรือ 2,000 ฟุต (300 - 600 เมตร) นอกจากนี้ควรดื่มน้ำให้มากเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ เพราะยิ่งอยู่ในที่สูงเท่าไรก็ยิ่งหายใจเร็วขึ้น จึงต้องมีการสูญเสียน้ำเป็นจำนวนมากไปในอากาศเมื่อเราหายใจออกจากปอด

และแม้ว่าคุณจะมีการร่างกายที่สมบูรณ์ หรือแม้คุณจะเคยปีนเขาหรือเล่นสกีในที่สูงมาก่อน ก็ไม่ได้ช่วยป้องกันการเกิด HAPE ได้ การกินยา Acetazolamide ก่อนขึ้นที่สูง 12 – 72 ชั่วโมง สามารถช่วยป้องกันการเกิด HAPE ได้ และควรกินยาต่ออีก 2 - 3 วัน หากพบว่ามีอาการของการป่วยจากการอยู่ในที่สูง โดยเฉพาะอาการปวดศีรษะหรือนอนไม่หลับ

แหล่งข้อมูล

  1. Prevention. http://www.mayoclinic.com/health/pulmonary-edema/DS00412/DSECTION=prevention [2013, February 20].
  2. ไขมันทรานส์ http://th.wikipedia.org/wiki/ไขมันทรานส์ [2013, February 20].