ช่วยด้วย! น้ำท่วมปอดคุณยาย (ตอนที่ 6)

สารบัญ

สำหรับการรักษาผู้ที่มีภาวะน้ำท่วมปอดจากการอยู่ในพื้นที่สูง (High Altitude Pulmonary Edema : HAPE) กรณีที่เป็นแบบอ่อนๆ ให้รีบลงมาอยู่ในที่ต่ำลง (ที่ระดับประมาณ 600 – 900 เมตร) ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ก็จะรู้สึกดีขึ้น ทั้งนี้การให้ออกซิเจนจะช่วยได้มาก แต่กรณีที่เป็นแบบรุนแรงอาจต้องอาศัยเฮลิคอปเตอร์ช่วยนำตัวลงมา เพราะ HAPE อาจทำให้เสียชีวิตได้

นักปีนเขาบางคนอาจใช้ยา Acetazolamide เพื่อป้องกัน HAPE โดยกินล่วงหน้าประมาณ 3 วัน ก่อนขึ้นเขา อย่างไรก็ดี ยา Acetazolamide ก็อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น เป็นเหน็บ (Tingling) มือและเท้าไหม้ สับสน (Confusion) ท้องเสีย คลื่นไส้ ไม่อยากอาหาร หรือมีปัญหาเรื่องการได้ยิน

ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีการป้องกันสำหรับการเกิดภาวะน้ำท่วมปอด แต่เราสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดได้โดยป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจ (Cardiovascular Diseases : CVD) ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดภาวะน้ำท่วมปอด ซึ่งทำได้โดย :

  • ควบคุมความดันโลหิต เพราะการมีความดันโลหิตสูง (Hypertension) อาจทำให้เกิดภาวะร้ายแรง เช่น การอุดตันของเส้นโลหิตที่ไปเลี้ยงสมอง (Stroke) โรคหลอดเลือดและหัวใจ และ โรคไตวาย (Kidney failure)
  • ค่าความดันโลหิตที่ต่ำประมาณ 120/80 มิลลิเมตรปรอท (Millimeters of mercury : mmHg) ถือว่าปกติ ถ้าความดันโลหิตอยู่ที่ 140/90 มิลลิเมตรปรอท ถือว่ามีความดันสูง หากค่าความดันอยู่ระหว่าง 2 ค่านี้ถือว่า เริ่มจะมีความดันสูง ในหลายกรณีที่เราสามารถลดความดันโลหิตหรือรักษาระดับที่เหมาะสมได้ด้วยการออกกำลังกายเป็นประจำ
  • การรักษาน้ำหนักที่เหมาะสม กินอาหาร ผัก ผลไม้ และผลิตภัณฑ์ที่มีไขมันต่ำ (Low-fat dairy products) จำกัดปริมาณเกลือและแอลกอฮอล์ ทั้งนี้ การกินอาหารที่มีประโยชน์ การลดอาหารเค็มและไขมัน สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะน้ำท่วมปอดอย่างเห็นได้ชัด
  • เฝ้าระวังระดับคลอเลสเตอรอล (Cholesterol) คลอเลสเตอรอลเป็นไขมันชนิดหนึ่งที่จำเป็นต่อร่างกาย แต่การมีคลอเลสเตอรอลที่สูงกว่าระดับปกติสามารถทำให้เกิดการสะสมในหลอดเลือด อุดกันทางเดินเลือด และเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหลอดเลือด (Vascular disease) การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสามารถช่วยให้ระดับคลอเลสเตอรอลต่ำลงได้ เช่น การจำกัดไขมัน โดยเฉพาะไขมันอิ่มตัว (Saturated fats) การกินอาหารที่มี ใยอาหาร (Fiber) ปลา ผลไม้สด และผักสด การออกกำลังกายเป็นประจำ การเลิกสูบบุหรี่ และการดื่มแอลกอฮอล์พอสมควร
  • หากสูบบุหรี่อยู่ สิ่งสำคัญที่ต้องทำเพื่อรักษาสุขภาพหัวใจและปอดคือ การเลิกสูบบุหรี่ เพราะการสูบจะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจวาย เสียชีวิตโดยมีสาเหตุมาจากหัวใจ โรคมะเร็งปอด และปัญหาปอดอื่นๆ เช่น โรคถุงลมโป่งพอง (Emphysema) แต่ถ้าไม่ได้สูบบุหรี่ ก็ควรหลีกเลี่ยงการรับควันบุหรี่ (Secondhand smoke) เพราะอาจทำให้เกิดโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตัน (Coronary artery disease)

แหล่งข้อมูล

  1. Treatments and drugs. http://www.mayoclinic.com/health/pulmonary-edema/DS00412/DSECTION=treatments-and-drugs [2013, February 19].
  2. Prevention. http://www.mayoclinic.com/health/pulmonary-edema/DS00412/DSECTION=prevention [2013, February 19].