ช่วยด้วย! น้ำท่วมปอดคุณยาย (ตอนที่ 5)

การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Echocardiography) - การตรวจนี้ช่วยวิเคราะห์ถึงปัญหาที่เกิดกับหัวใจ รวมถึงปัญหาลิ้นหัวใจ ความผิดปกติของการเคลื่อนไหวของผนังหัวใจห้องล่าง (Ventricular walls) ของเหลวที่อยู่รอบบริเวณหัวใจ (Pericardial effusion) และโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด (Congenital heart defects)

ทั้งยังช่วยวัดปริมาณของเลือดที่หัวใจห้องล่างซ้ายสูบฉีดในแต่ละครั้งที่หัวใจเต้น (Ejection fraction : EF) และยังสามารถประเมินถึงการเพิ่มขึ้นของความดันในหัวใจด้านขวา แม้ว่าบ่อยครั้งที่ค่า EF ต่ำจะแสดงว่ามีภาวะน้ำท่วมปอดจากหัวใจ แต่ก็เป็นไปได้ว่าคนที่มีค่า EF ปกติ ก็อาจมีภาวะน้ำท่วมปอดจากหัวใจได้เช่นกัน

การตรวจผ่านกล้องตรวจในหลอดอาหาร (Transesophygeal echocardiography : TEE) ในการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง ทรานสดิวเซอร์ (Transducer) หรืออุปกรณ์ที่ทำหน้าที่ตรวจจับรับความรู้สึกตัวแปรทางกายภาพจะอยู่ภายนอกร่างกาย แต่ในการตรวจ TEE จะใช้หลอดยื่นหยุ่นที่นุ่มสอดเข้าไปในปากไปยังหลอดอาหาร (Esophagus)

หลอดอาหารจะอยู่บริเวณด้านหลังหัวใจซึ่งจะทำให้ได้เห็นภาพหัวใจและหลอดเลือดที่สู่ปอด (Pulmonary arteries) ที่ใกล้และชัดเจนมากขึ้น ผู้ป่วยอาจได้รับยานอนหลับ (Sedative) เพื่อให้รู้สึกสบายขึ้น อาจรู้สึกเจ็บคอเป็นเวลา 2-3 วันหลังจากนั้น และอาจมีความเสี่ยงจากการที่หลอดอาหารทะลุหรือมีเลือดออกในหลอดอาหารได้

การวัดด้วยเครื่อง Pulmonary artery catheterization – หากการทดสอบไม่สามารถบอกถึงเหตุที่ทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมปอดได้ แพทย์อาจใช้วิธีการวัดความดันหลอดเลือดฝอยในปอด (Wedge pressure) ระหว่างการทดสอบปลายหัวบอลลูนจะถูกสวนเข้าในหลอดเลือดที่ขาหรือแขนไปยังหลอดเลือดที่ไปสู่ปอด (Pulmonary artery) บอลลูนจะขยายขื้นและยุบลงตามค่าความดันที่อ่านได้

การสวนหัวใจ (Cardiac catheterization) - หากการทดสอบด้วยเครื่อง ECG หรือ การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง ไม่สามารถบอกได้ถึงสาเหตุของภาวะน้ำท่วมปอด หรือหากมีอาการเจ็บหน้าอก แพทย์อาจแนะนำให้ทำการสวนหัวใจด้วยการฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ (Coronary angiogram) ซึ่งทำโดยใช้หลอดบางยาวสวนเข้าไปในหลอดเลือดบริเวณหน้าขา คอ หรือแขน และผ่านไปยังหัวใจ

ระหว่างขั้นตอนนี้อาจทำการรักษาด้วยการขยายหลอดเลือดอุดตัน (Blocked artery) ไปด้วย ซึ่งจะช่วยให้การสูบฉีดเลือดของหัวใจห้องล่างซ้าย ดีขึ้น นอกจากนี้การสวนหัวใจอาจใช้ในการวัดความดันของห้องหัวใจเพื่อประเมินสภาพลิ้นหัวใจ (Heart valves) และหาสาเหตุของภาวะน้ำท่วมปอด

การให้ออกซิเจนเป็นการรักษาภาวะน้ำท่วมปอดอันดับแรกโดยสวมหน้ากากหรือใส่หลอดคาที่จมูก (Nasal cannula) บางทีถ้าจำเป็นอาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจก็ได้ นอกจากนี้อาจมีการรักษาด้วยยาดังต่อไปนี้โดยดูจากสภาพที่เป็นและสาเหตุของภาวะน้ำท่วมปอด :

  • Preload reducers เป็นยาที่ใช้ลดความกดดันที่เกิดจากการที่ของเหลวเข้าไปในหัวใจและปอด ส่วนใหญ่แพทย์มักให้ยาไนโตรกลีเซอรีน (Nitroglycerin) และ ยาขับปัสสาวะ (Diuretics) เช่น ยา Furosemide เพื่อรักษาภาวะน้ำท่วมปอด
  • ยามอร์ฟีน (Morphine) เพื่อใช้ระงับอาการวิตกกังวลและการหายใจขัด (Shortness of breath) แต่แพทย์บางท่านไม่นิยมใช้เพราะมีความเสี่ยง โดยใช้ยาอื่นแทน
  • Afterload reducers ยาชนิดนี้ใช้ขยายหลอดเลือดและลดความดันในหัวใจห้องล่างซ้าย เช่น ยา Nitroprusside ยา Enalapril และยา Captopril
  • ยาปรับความดันโลหิต (Blood pressure medications) กรณีที่ความดันโลหิตสูงก็จะได้ยาลดความดัน ในทางกลับกันกรณีที่ความดันโลหิตต่ำก็จะได้ยาเพิ่มความดัน

แหล่งข้อมูล

  1. Tests and diagnosis. http://www.mayoclinic.com/health/pulmonary-edema/DS00412/DSECTION=tests-and-diagnosis [2013, February 18].
  2. Treatments and drugs. http://www.mayoclinic.com/health/pulmonary-edema/DS00412/DSECTION=treatments-and-drugs [2013, February 18].