ชีพจร หรือ อัตราการเต้นของหัวใจ (Pulse)

ชีพจร (Pulse หรือ Pulse rate หรือ Heart rate หรือ Heart beat) คือการนับอัตราการเต้นของหัวใจ โดยนับผ่านการเต้นของหลอดเลือดแดงในระยะเวลา 1 นาที ทั้งนี้ตำแหน่งที่นิยมวัด หรือ จับชีพจร คือ ตำแหน่งด้านหน้าข้อมือส่วนที่ต่ำกว่าฐานของนิ้วหัวแม่มือ โดยการวางนิ้ว ชี้และนิ้วกลางลงบนตำแหน่งนั้น กดลงเบาๆก็จะรับรู้ได้ถึงการเต้นของหลอดเลือดแดง ทั้งนี้สามารถจับวัดชีพจรได้ในตำแหน่งต่างๆที่หลอดเลือดแดงขนาดกลางอยู่ติดกับผิวหนัง จึงสามารถคลำพบได้ง่าย (ปกติหลอดเลือดแดงจะอยู่ลึก คลำพบยาก หลอดเลือดส่วนใหญ่ที่มอง เห็นจะเป็นหลอดเลือดดำ) เช่น ที่ขาพับด้านนิ้วหัวแม่เท้า ที่ด้านในของขาหนีบ ที่ลำคอส่วนที่ติดกับลูกกระเดือก เป็นต้น

ชีพจรปกติของผู้ใหญ่ปกติขณะพัก คือ ประมาณ 60-100 ครั้งต่อนาที ทั้งนี้ ชีพจรของแต่ละคนจะไม่เท่ากัน และในคนๆเดียวกันจับชีพจรในช่วงเวลาที่แตกต่างกันก็จะไม่เท่ากัน ทั้งนี้ขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น อายุ (เด็กชีพจรเร็วกว่าผู้ใหญ่) ขณะพักชีพจรเต้นช้ากว่าหลังการเคลื่อนไหว อารมณ์ (เศร้าหมอง ชีพจรเต้นช้ากว่า) นักกีฬา ชีพจรเต้นช้ากว่า

ชีพจร เป็น 1 ใน 4 ของสัญญาณชีพ เป็นตัวบอกถึงประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจ ซึ่งอาจเกิดผิดปกติจากโรคหัวใจเอง หรือจากภาวะผิดปกติอื่นๆ เช่น มีไข้ โรคของปอด หรือ ภาวะซีด เป็นต้น ทั้งนี้นอกจากอัตราการเต้นของหัวใจแล้ว ความหนักเบาของชีพจร ก็สามารถช่วยวินิจฉัยการทำงานของหัวใจได้ เช่น เมื่อมีความดันโลหิตสูง ชีพจรจะเต้นแรง แต่เมื่อมีความดันโลหิตต่ำ ชีพจรจะเต้นแผ่วเบา เป็นต้น

บรรณานุกรม

  1. http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/ency/article/003399.htm [2013,March4].