จุลินทรีย์สร้างสรรค์ บรรเทาวิกฤต

เมื่อเร็วๆนี้ นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เดินทางไปตรวจเยี่ยมให้กำลังใจผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ อ.บางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้กล่าวถึงปัญหาที่ต้องเร่งดำเนินการทุกฝ่ายก็คือ การดูแลผู้ประสบภัยอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะปัจจัยสี่ เนื่องจากน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน

นายวิทยากล่าวต่อว่า ได้สั่งการให้กรมอนามัย ผลิตชุดเครื่องใช้จำเป็นในการป้องกันโรคในช่วงประสบภัยน้ำท่วม ชื่อว่า “ชุดนายสะอาด” ประกอบ 5 รายการ ได้แก่

  1. ถุงดำใส่ขยะ
  2. ถุงดำใส่อุจจาระ อย่างละ 40 ใบ
  3. น้ำยาล้างจาน 1 ขวด
  4. น้ำยาอีเอ็ม ใช้กำจัดน้ำเน่าเสีย ซึ่งใช้ย่อยสลายอุจจาระได้ด้วย และ
  5. น้ำยาหยดทิพย์ ซึ่งเป็นคลอรีนน้ำ ใช้สำหรับใส่ฆ่าเชื้อโรคในน้ำบริโภค ซึ่งใช้ได้นาน 1 สัปดาห์

น้ำยาอีเอ็ม (E.M.) ที่ว่านี้ ย่อมาจาก Effective Microorganism หมายถึง กลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพซึ่ง ศาสตราจารย์ Teruo Higa จากมหาวิทยาลัยริวกิว นครโอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น เป็นผู้คิดค้นพบ เขารายงานในปี พ.ศ. 2538 ว่า การรวมตัวของจุลินทรีย์ที่เขาเพาะเชื้อในห้องปฏิบัติการ ประมาณ 80 ตัว มีผลกระทบในเชิงบวกต่อการสังเคราะห์ (Decompose) สารอินทรีย์ จนสามารถคืนสภาพของกระบวนการพัฒนาสิ่งมีชีวิต (Life-promoting) ได้

กลุ่มจุรินทรีย์สร้างสรรค์ดังกล่าว ส่วนใหญ่ประกอบด้วยแบคทีเรีย ชนิดเป็นกรดเปรี้ยว หรือ กรดแลคติค (Lactic acid) หรือบางคนเรียกว่า กรดนม (Milk acid) และชนิดสังเคราะห์แสง (Photosynthetic) เชื้อรา (Yeast) และเชื้อเห็ดหมัก (Fermenting fungi) ซึ่งมีอยู่แล้วในธรรมชาติ เพียงแต่ต้องอาศัยเทคโนโลยีทางชีวภาพ ในการนำมาใช้ประโยชน์เพื่อปรับปรุงสภาพความสมดุลของสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น โดยเฉพาะในกระบวนการบำบัดน้ำเสียปัจจุบัน ในเขตเทศบาล และเขต กทม.

สารอินทรีย์ในน้ำเสีย ปกติจะเกิดจากพืชและสัตว์ หรือส่วนผสมอินทรีย์สังเคราะห์ ที่เข้าสู่กระบวนการน้ำเสียผ่านเส้นทางหลากหลาย อาทิ สิ่งปฏิกูลจากคน ผงซักฟอก และแหล่งอุตสาหกรรม จุลินทรีย์สร้างสรรค์ดังกล่าวอาศัยอยู่ในน้ำเสีย มีบทบาทสำคัญในการทะลายสารอินทรีย์ที่เป็นมลพิษ อย่างไรก็ตาม จุลินทรีย์บางชนิด ซึ่งมีทั้งแบคทีเรียและไวรัสในน้ำเสีย ก็เป็นอันตรายต่อมนุษย์

แบคทีเรียกรดเปรี้ยวเป็นตัวสร้างสารต่างๆ (Secrete) เช่น กรดอินทรีย์ ส่าหมัก (Enzyme) และ อนุมูลอิสระ ซึ่งช่วยการแยกของแข็งออกจากของเหลวในน้ำเสีย อันเป็นพื้นฐานของการบำบัดน้ำเสีย ให้กลายเป็นน้ำสะอาด ประโยชน์ที่สำคัญของเทคโนโลยีนี้ คือการลดปริมาณโคลนตมที่ตกตะกอน ซึ่งจุลินทรีย์สร้างสรรค์จะสังเคราะห์สารอินทรีย์ โดยแปรสภาพให้เป็นก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ ก๊าซมีเทน (Methane)

การศึกษาวิจัยยังพบว่า กระบวนการนี้สามารถใช้ได้ทั้งในโรงบำบัดน้ำเสีย และในถังน้ำเกรอะ โดยเฉพาะในการดับกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ อันเป็นผลพวงจาการสังเคราะห์ และการลดการผลิตเศษโคลนตมที่เหลืออยู่ ปัจจัยเหล่านี้สนับสนุนการบำบัดน้ำเสีย โดยเพิ่มพูนคุณภาพของน้ำที่ถูกระบายออกและลดปริมาณน้ำเน่าเสียลง

แหล่งข้อมูล:

  1. เร่งผลิตชุดสุขภาพรับน้ำท่วม 5 แสน แจกป้องกันโรคระบาด http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9540000128249 [8 ตุลาคม 2011].
  2. Effective Microorganism (EM) and Wastewater Systems by Nathan Szymanski and Robert A Patterson. http://www.lanfaxlabs.com.au/papers/P53-03-Szymanski-Patterson.PDF [10 ตุลาคม 2011].