จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 2
จิตวิทยาวัยรุ่น ตอนที่ 65 : การใช้เหตุผลทางจริยธรรม (1)

จิตวิทยาวัยรุ่น

ลอเร็นซ์ โคลเบอร์ก (Lawrence Kohlberg) ผู้มีชีวิตอยู่ระหว่าง พ.ศ. 2470 - พ.ศ. 2530 เป็นนักจิตวิทยาชาวอเมริกัน โดยเป็นศาสตราจารย์แผนกจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยชิคาโก้ และแผนกการศึกษาของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด [ทั้งคู่เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐอเมริกา และของโลกด้วย] ในเวลาเดียวกัน

ลอเร็นซ์ โคลเบอร์ก ขยายการศึกษาวิจัยของ ฌอง เปียเจต์ (Jean Piaget) นักจิตวิทยาชาวสวิส ที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกก่อนหน้าเขา ประมาณ 25 ปี ในเรื่องจริยธรรม แล้วผนวกเข้ากับผลงานวิจัยของนักปรัชญาในรุ่นราวคราวเดียวกัน จนได้สร้าง “ทฤษฎีขั้นตอนพัฒนาการทางจริยธรรม” (Stages of moral development) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของแขนงวิชา “พัฒนการทางจริยธรรม” ที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิชาจิตวิทยาในที่สุด

มีผู้นำไปแนวความคิดของเขาไปทดลองปฏิบัติ (Empirical) จนสำเร็จและต่อยอดขึ้นไปอีก ทำให้เขากลายเป็นผู้มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกเช่นกัน บนพื้นฐานของการศึกษาวิจัย ลอเร็นซ์ โคลเบอร์กและคณะได้นำเสนอคำตอบของข้อขัดแย้ง (Dilemma) ที่คล้ายคลึงกันกับปัญหาวัยรุ่น โดยอธิบายด้วยพัฒนาการการใช้เหตุผลทางจริยธรรม ซึ่งเขาแบ่งเป็น 3 ระดับ ดังรายละเอียดต่อไปนี้

ระดับที่ 1 ก่อนประเพณีปฏิบัติ (Pre-conventional) ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดของ ลอเร็นซ์ โคลเบอร์ก ในเรื่องการใช้เหตุผลทางจริยธรรม ซึ่งมี 2 ขั้นตอน โดยที่ในขั้นตอนแรกนั้น การตัดสินใจทางจริยธรรม ตั้งอยู่บนพื้นฐานหลักของความกลัวต่อการลงโทษ หรือของความจำเป็นต้องเชื่อฟัง ส่วนในขั้นตอนที่ 2 นั้น การใช้เหตุผลทางจริยธรรม ชักนำ (Guided) โดยผลประโยชน์ส่วนตัว (Self-interest) ซึ่งอาจต้องมีการเจรจาต่อรอง

ระดับที่ 2 ประเพณีปฏิบัติ (Conventional) ซึ่งเป็นระดับกลาง ของลอเร็นซ์ โคลเบอร์ก ในเรื่องการใช้เหตุผลทางจริยธรรม ซึ่งมี 2 ขั้นตอนเช่นกัน โดยที่ในขั้นตอน 3 นั้น การตัดสินใจทางจริยธรรม ได้รับชักนำโดยมาตรฐานผู้อื่นที่เราให้คุณค่า และในขั้นตอนที่ 4 การใช้เหตุผลทางจริยธรรม อาศัยการปฏิบัติตามกฎหมายของสังคม ทั้ง 2 ขั้นตอนหลังนี้ อาศัยความเห็นชอบของสังคม (Social approval)

ระดับที่ 3 หลังประเพณีปฏิบัติ (Post-conventional) ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของลอเร็นซ์ โคลเบอร์ก ในเรื่องการใช้เหตุผลทางจริยธรรม ซึ่งมี เพียงขั้นตอนเดียว โดยที่ในขั้นตอนที่ 5 นี้ การตัดสินใจทางจริยธรรม เกิดขึ้นหลังจากที่ได้พิจารณาอย่างถี่ถ้วนเกี่ยวกับทางเลือก (Alternative) ต่างๆ และรักษาความสมดุลระหว่างสิทธิมนุษยชน (Human rights) และกฏหมายของสังคม

ลอเร็นซ์ โคลเบอร์ก ศึกษาการใช้เหตุผลทางจริยธรรม โดยการนำเสนอในรูปแบบสถานการณ์ “หนีเสือปะจรเข้” (Dilemma) เขาจะแยกแยะประเภทของสถานการณ์ ตาม 5 ขั้นตอน ใน 3 ระดับ ข้างต้นนี้ แล้วให้เหตุผลทางจริยธรรมประกอบ โดยเริ่มต้นด้วยข้อสมมุติฐานที่ว่า มนุษย์มีแรงจูงใจจากภายใน (Intrinsic) ที่จะสำรวจ (และสามารถทำงานใน) สภาพแวดล้อมภายนอก

แหล่งข้อมูล

  1. Plotnik, Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth-Thompson Learning.
  2. Lawrence Kohlberg - http://en.wikipedia.org/wiki/Lawrence_Kohlberg [2015, February 7].