จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 2 จิตวิทยาวัยรุ่น ตอนที่ 53 : กีฬากับคุณค่าในตนเอง (2)

จิตวิทยาวัยรุ่น

ผลวิจัยแสดงว่า สาววัยรุ่นที่เล่นกีฬาอย่างสม่ำเสมอในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย (High school) มักเห็นคุณค่าในตนเอง (Self-worth) ในระดับที่สูงกว่าเมื่อเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย การวิเคราะห์เจาะลึกผลงานวิจัยเดียวกัน ยังเปิดเผยว่า

  • การเล่นกีฬามีความสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของ “สมรรถนะ” (Competence) ทางร่างกาย พัฒนการของภาพลักษณ์ร่างกาย (Body image) ที่ดี และการได้มา (Acquisition) ซึ่งคุณลักษณ์ “ชายชาตรี” (Masculine attribute) อาทิ ความกล้าพูดกล้าแสดงออก (Assertive)
  • พัฒนการเหล่านี้ ก็มีความสัมพันธ์กับ (และส่งเสริม) การประเมินคุณค่าในตนเอง (Self-esteem) ที่เพิ่มขึ้น เมื่อสาววัยรุ่น เรียนอยู่ในระดับอุดมศึกษา

สรุปแล้ว ดูเหมือนว่าการที่สาววัยรุ่นมีส่วนร่วมในกิจกรรมกีฬา อาจมีผลกระทบต่อความรู้สึกที่ดีขึ้น (Enhance) ในคุณค่าของตนเอง แต่นี่เป็นจริงเฉพาะกรณีที่กิจกรรมกีฬาส่งเสริมสมรรถนะทางร่างกาย ภาพลักษณ์ ร่างกายที่แข็งแรง และคุณลักษณ์ส่วนตัวที่พึงปรารถนา ในช่วงวัยเจริญพันธุ์ สาววัยรุ่นมักตกอยู่ภายใต้ความกดดันว่า เธอต้องทำตาม (Conform) บทบาททางเพศ (Gender) ที่ได้รับการกำหนดไว้ล่วงหน้า (Prescribe) ดังนั้น การเล่นกีฬาจึงเปิดโอกาสเธอให้แสดงออกส่วนที่เป็นความก้าวร้าว (Outlet of aggression) ของเธอ และการมีร่างกายที่แข็งแรง เป็นการเพิ่มความมั่นใจในคุณค่าของตนเอง

อันที่จริง นักกีฬายังเห็นคุณค่าในตนเอง เพราะมักได้รับการปฏิบัติเป็นพิเศษ อาทิ ทุนการศึกษาสำหรับผู้มีทักษะนักกีฬาโดยเฉพาะ เครื่องแบบ (Uniform) ของนักกีฬาที่ได้รับการออกแบบให้โดดเด่นกว่าเครื่องแบบนักศึกษาทั่วไป การประชาสัมพันธ์นักกีฬาที่สร้างชื่อเสียงให้สถาบันการศึกษา ตามสื่อต่างๆ และโอกาสเดินทางไปแข่งขัน (Tournament) ในต่างประเทศด้วย

นอกจากประสบการณ์ที่ล้ำค่าสำหรับชีวิตวัยรุ่นแล้ว การเล่นกีฬายังช่วยให้สาววัยรุ่นชื่นชมความสำคัญของการทำงานเป็นหมู่คณะ (Teamwork) การแสดงออกของภาวะผู้นำ (Leadership) และการรู้จักพึ่งพาตนเอง (Self-reliance) อันเป็นพัฒนาการทางสังคมที่จะเป็นประโยชน์ต่อชีวิตในเวลาต่อมา

ผลการวิจัยเดียวกัน ยังแสดงเป็นนัยยะ (Imply) ว่าชั้นเรียนพลศึกษา (Gym) และทีมนักกีฬาที่เป็นทางการ (Formal) อาจเป็นประโยชน์ต่อสาววัยรุ่นจำนวนมาก หากนักการศึกษาและครูฝึกสอน (Coach) จะตอกย้ำและดัดแปลง (Devise) วิธีการที่จะวัดผลและแสดงคุณประโยชน์ทางร่างกายและจิตใจ

ประโยชน์สูงสุดของกิจกรรมกีฬา (ไม่ว่าจะเป็นทางการหรือไม่) อยู่ที่การไม่มุ่งเน้นผลลัพธ์ของการแพ้-ชนะในการแข่งขัน และ/หรือ ความบกพร่อง (Deficiency) ทางร่างกายของผู้ด้อยสมรรถนะทางกีฬา ที่อยู่ในความดูแล (Tutelage) ของครูฝึกสอน

แหล่งข้อมูล

  1. Plotnik, Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth-Thompson Learning.
  2. How Sports Affect Self-Esteem - http://www.ehow.com/info_11383807_sports-affect-selfesteem.html [2014, December 27].