จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน – ภาคที่ 3 จิตวิทยาผู้ใหญ่ตอนที่ 87 : ภาวะสมองแยก (2)

จิตวิทยาผู้ใหญ่

หลังจากการผ่าตัดแยกสมอง (Split-brain operation) วิคตอเรีย (Victoria) ชี้ด้วยมือซ้าย เพราะสมองซีกขวาของเธอควบคุมด้านซ้ายของร่างกาย แม้ว่าผลกระทบของภาวะสมองแยก (Split brain) จะเห็นเด่นชัด (Obvious) ภายใต้การทดสอบพิเศษ แต่ผลกระทบดังกล่าว มักไม่ปรากฏชัดเจน (Apparent) ในชีวิตประจำวัน

ในช่วงต้นหลังจากการผ่าตัดแยกสมอง วิคตอเรียรายงานว่า เมื่อเธอต้องเลือกเสื้อผ้าจากตู้ มือขวาของเธอจะคว้าเสื้อ (Blouse) แต่แล้วมือซ้ายเธอ จะนำไปเก็บในที่เดิม อย่างไรก็ตาม ตัวอย่างของความขัดแย้งอย่างเห็นได้ชัดระหว่างสมองทั้ง 2 ซีก จะค่อยๆ น้อยลง (Rare) แล้วอันตรธาน (Disappear) ในเวลาไม่กี่เดือนต่อมา

หลังการผ่าตัดแยกสมองได้ 4 เดือน ผู้ป่วยเริ่มรู้สึกตื่นตัว (Alert) และเริ่มพูดได้ง่ายขึ้นเกี่ยวกับเหตุการณ์ในอดีตและในปัจจุบัน เธอสามารถอ่าน เขียน ใช้เหตุผล และทำงานปรกติในชีวิตประจำวันได้ อาทิ กินอาหาร แต่งตัว เดินเหิน และสนทนา สำหรับวิคตอเรีย ซึ่งผ่านการผ่าตัดแยกสมอง (รวมทั้งพวกเราส่วนใหญ่ที่มีสมองปรกติ) มีเพียงสมองซีกซ้ายเท่านั้นที่สามารถแสดงออก (Express) เป็นคำพูดได้

ถ้าการพูดได้อยู่ในอาณาบริเวณสมองซีกซ้าย สมองซีกขวาก็มักจะพูดไม่ได้ (Mute) สำหรับผู้ถนัดซ้าย (Left-handers) จำนวนไม่มาก การพูดได้อยู่ในอาณาบริเวณสมองซีกขวา และสมองซีกซ้ายก็มักจะเป็นใบ้ ดังนั้นเหตุผลหนึ่งของผู้ที่ถูกผ่าตัดแยกสมอง จะดูเหมือนปรกติในการสนทนาที่ไม่เป็นทางการ (Casual) ก็คือ สมองซีกหนึ่งเท่านั้นที่กำกับการพูด หลังจากทดสองผู้ป่วยที่ถูกแบ่งแยกสมอง ทีมนักวิจัยค้นพบว่า แต่ละซีกของสมองมีความเชี่ยวชาญในการทำงานเฉพาะ เท่านั้น

ก่อนการสังเกตผู้ป่วยภาวะสมองแยก นักวิจัยมีความรู้เพียงเล็กน้อยในเรื่องการทำงานของซีกสมอง แต่หลังจากศึกษาพฤติกรรมของผู้ป่วยดังกล่าว ก็เกิดความเข้าใจใหม่ ว่างานอะไรที่แต่ละซีกสมองจะทำได้ดีที่สุด?

สมองซีกซ้าย มักเก่งในเรื่องความสัมพันธ์กับภาษา อันได้แก่ การพูด ความเข้าใจภาษา การดำเนินสนทนา การอ่าน การเขียนและการสะกด นอกจากนี้ยังมีทักษะความชำนาญในทางคณิตศาสตร์ การบวก ลบ คูณและหาร การแก้โจทย์เชิงซ้อนในวิชาแคลคูลัส (Calculus) และฟิสิกส์ แม้โดยทั่วไป สมองซีกขวา ก็สามารถบวกกับลบได้ แต่แก้โจทย์เชิงซ้อนในการคำนวณไม่ได้

นอกจากนี้ สมองซีกซ้าย ดูเหมือนจะประมวลข้อมูล โดยการวิเคราะห์แต่ละส่วนประกอบ (Whole) ที่แยกกัน (Separate) ได้ ตัวอย่างเช่น สมองซีกซ้ายสามารถจดจำ (Recognize) ใบหน้าได้ โดยการแยกชิ้นส่วน (Parts) หลากหลาย อาทิ จมูก ตา ริมฝีปาก และแก้ม แม้จะดำเนินการอย่างเชื่องช้า (Relatively slow)

แหล่งข้อมูล

  1. Plotnik, Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.
  2. Split brain - https://th.wikipedia.org/wiki/Split-brain [2016, December 10].