จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน – ภาคที่ 3 จิตวิทยาผู้ใหญ่ตอนที่ 71 : สมองกลีบขมับ (1)

จิตวิทยาผู้ใหญ่

เรารับรู้ชื่อของเรา เมื่อเราได้ยินการเอ่ยชื่อ เพราะหนทางของเสียง (Sound) ที่ได้รับการประมวลในสมองกลีบขมับ (Temporal lobe) มิใช่เป็นเพียงเสียงที่ไร้ความหมาย อันที่จริง สมองกลีบขมับอยู่ใต้สมองกลีบข้าง (Parietal lobe) และเกี่ยวข้องกับการได้ยิน การพูดที่เชื่อมโยงกัน (Coherent) และการเข้าใจสิ่งที่พูด (Verbal) และเขียน

กระบวนการได้ยิน และจำ (Recognize) ชื่อได้เกี่ยวข้องกับ 2 ขั้นตอน และ 2 อาณาบริเวณในสมองที่แตกต่างกัน โดยที่ขั้นตอนแรกเกิดขึ้นเมื่อเสียงเข้าถึงอาณาบริเวณเฉพาะในสมองกลีบขมับที่เรียกว่า “เปลือกสมองการได้ยินหลัก” (Primary auditory cortex) ซึ่งมีอยู่ในแต่ละกลีบ

เปลือกสมองการได้ยินหลัก อยู่บนขอบของสมองกลีบขมับแต่ละข้าง ทำหน้าที่รับสัญญาณไฟฟ้า (Electric signal) จากตัวรับความรู้สึก (Receptor) ในหู แล้วแปลง (Transform) สัญญาณเหล่านี้ เป็นเสียงความรู้สึก (Sound sensation) ที่ไร้ความหมาย อาทิ สระ (Vowel) และพยัญชนะ (Consonant)

ณ จุดนี้ เราอาจไม่สามารถจำชื่อของเราเองได้ เพราะเปลือกสมองการได้ยินหลัก ทำหน้าเปลี่ยนสัญญาณไฟฟ้าจากหูให้เป็นความรู้สึกพื้นฐาน (Basic sensation) เท่านั้น อาทิ เสียงแต่ละบุคคล การกดปุ่ม (Click) หรือ สัญญาณรบกวน (Noise) เพื่อให้เสียงความรู้สึกเหล่านี้กลายเป็นคำที่จำได้ (Recognizable word) เสียงนั้นจะต้องถูกส่งไปยังอาณาบริเวณอื่นในสมองกลีบขมับที่เรียกว่า “เขตสัมพันธ์กับการได้ยิน” (Auditory association area)

ขี้นตอนที่ 2 ในการจำชื่อเราเองได้ เกิดขึ้นเมื่อเปลือกสมองการได้ยินหลัก ส่งสัญญาณไฟฟ้าไปยังเขตสัมพันธ์กับการได้ยิน ซึ่งมีอยู่ในแต่ละกลีบ เขตสัมพันธ์กับการได้ยิน อยู่ใต้เปลือกสมองการได้ยินหลัก ทำหน้าที่แปลงข้อมูลความรู้สึกพื้นฐาน อาทิ เสียง (Sound) หรือสัญญาณรบกวน (Noise) ให้กลายเป็นข้อมูลการได้ยินที่จำได้ (Recognizable auditory information) อาทิ คำพูด (Word) หรือดนตรี (Music)

หลังจากข้อมูลการได้ยิน ถูกส่งโดยเปลือกสมองการได้ยินหลัก ไปยังเขตสัมพันธ์กับการได้ยิน เราก็จะจำเสียงที่เป็นชื่อ คำพูด หรือ ดนตรีได้ ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า เราได้ยินจากสมองของเราเอง แทนที่จากหู นอกจากเกี่ยวข้องในเรื่องการได้ยินแล้ว สมองกลีบขมับยังอาณาบริเวณอื่นที่สำคัญ (Critical) ต่อการพูด และเข้าใจคำและประโยค

เช่นเดียวกับการได้ยินชื่อตนเองเป็นกระบวนการ 2 ขั้นตอน การพูดเป็นประโยคก็มี 2 ขั้นตอน โดยที่ขั้นตอนแรกเป็นการนำเอาคำพูดมารวมกัน ซึ่งเกี่ยวข้องกับสมองกลีบหน้า เรียกว่า “เขตบร็อคค่า” (Broca’s area)

แหล่งข้อมูล

  1. Plotnik, Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.
  2. 2. Parietal lobe - https://en.wikipedia.org/wiki/Parietal_lobe [2016, August 20].