จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 3 จิตวิทยาผู้ใหญ่ ตอนที่ 7 : ช่วงเปลี่ยนผ่านของชีวิต (4)

จิตวิทยาผู้ใหญ่

มุมมองที่ไม่สู้ดีนักของวัยหมดประจำเดือน เกิดจากกลุ่มอาการโรค (Syndrome) อาทิ โรคซึมเศร้า (Depression) และปฏิกิริยาตอบโต้ทางอารมณ์ในเชิงลบ ซึ่งมักตั้งอยู่บนพื้นฐานของสตรีที่หมดประจำเดือนแต่เนิ่นๆ หลังการผ่าตัดเอามดลูกออก (Hysterectomy) หรือผู้ที่มีประวัติซึมเศร้าในชีวิตมาก่อน

ผลการสำรวจหลายครั้ง ในสตรีที่ร่างกายแข็งแรงนับพันๆ คน ซึ่งได้รับการคัดเลือกโดยสุ่มตัวอย่างจากสตรีทั่วไป พบว่า สตรีส่วนมากมองวัยหมดประจำเดือนด้วยความโล่งอก (เพราะไม่ต้องกังวลเรื่องตั้งครรภ์ หรือความทุกข์ช่วงมีประจำเดือน) หรือไม่มีความรู้สึกเฉพาะใดๆ แต่ก็มีเพียง 3% เท่านั้น ที่รายงานว่า รู้สึกเสียดายที่ถึงวัยหมดประจำเดือน สตรีส่วนใหญ่ต้องเผชิญกับอาการทางร่างกายเพียงเล็กน้อย (ซึ่งอาจน่ารำคาญ แต่ก็เป็นเพียงชั่วคราว) โดยมิได้เป็นโรคซึมเศร้า

.ในการศึกษาเมื่อเร็วๆ นี้ ของสตรีวัยหมดประจำเดือน พบว่า น้อยกว่าครึ่งที่รายงานอาการทางร่างกาย และมีเพียง 5% ที่บ่นเรื่องอารมณ์ไม่ดี แม้ว่าผู้หญิงจะสูญเสียความสามารถในการสืบพันธุ์ (Fertility) และผู้ชายสามารถสืบพันธุ์ได้ตลอดชีวิตในทางทฤษฎี แต่ผู้ชายก็มี “นาฬิกาทางชีวภาพ” (Biological clock) เช่นกัน

ในผู้ชาย สารเท็สโตสเตอโรน (Testosterone) จะลดลง แม้ว่า จะไม่ลดฮวบฮาบเหมือนสารเอ็สโตรเจน ในผู้หญิง จำนวนนับของน้ำอสุจิ อาจค่อยๆ ลดลง แต่ส่วนที่เหลืออยู่ มีแนวโน้ม (Susceptible) ต่อการกลายพันธุ์ (Mutation) ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงของโรคบางอย่างในเด็กที่เกิดจากพ่อสูงวัย

ตัวอย่างเช่น พ่อที่มีอายุเกิน 50 ปีขึ้นไป มีความเสี่ยง 3 เท่า ที่จะให้กำเนิดลูกที่เป็นโรคจิตเภท (Schizophrenia) เมื่อเทียบกับพ่อที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปี และพ่อสูงวัยมีความน่าจะเป็นสูงที่จะให้กำเนิดลูกที่เป็นออทิสติก (Autistic)

ส่วนการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายใน “ช่วงกลางของชีวิต” ไม่สามารถพยากรณ์ว่า ผู้คนรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับชราภาพ (Aging)? หรือจะสนองตอบต่อชราภาพอย่างไร? แล้ววัฒนธรรมมีมุมมองอย่างไร ว่าจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ และหลีกเลี่ยงไม่ได้ หรือเป็นกระบวนการที่ต้องต่อสู้ และชะลอลง? ซึ่งอาจมีความสำคัญมากกว่าว่า ผู้คนจะปรับตัวอย่างไร?

มีนักปรัชญามากมายที่ให้ความสำคัญแก่กระบวนการพัฒนาของชีวิต (Life development) คาร์ล จุน (Carl Jung) นักจิตวิทยาชาวสวิส ผู้มีศรัทธาในปรัชญาพุทธศาสนา ได้แบ่งช่วงเปลี่ยนผ่านของชีวิต (Transition of life) ออกเป็น 4 ขั้นตอน บนพื้นฐานของการหมุน (Orbit) ของดวงอาทิตย์ กล่าวคือ เช้า สาย บ่าย เย็น

เขาอธิบายว่า ตอนเช้า หมายถึงวัยเด็กที่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ อาทิ พ่อแม่ ครู และญาติ เป็นช่วงที่เรียนรู้เพื่อความอยู่รอดและเตรียมความพร้อมที่จะเผชิญกับโลกภายนอก ส่วน ตอนสาย หมายถึง วัยรุ่นและผู้ใหญ่ ซึ่งต้องทำมาหากิน เพื่อหารายได้มาสร้างครอบครัว

สำหรับ ตอนบ่าย หมายถึงวัยชรา ที่ต้องเกษียณจากการทำงาน และมอบโอนงาน ให้ผู้อื่นรับช่วงไปเหมือนรอยต่อระหว่างเวลาโพล้เพล้ (Twilight) ส่วน ตอนเย็น หมายถึงวัยที่ปล่อยวางภาระ แล้วอยู่อย่างสงบ (Peaceful life) คาร์ล จุน กล่าวว่า “ช่วงเปลี่ยนผ่านของชีวิตที่สำคัญ อยู่ที่รอยต่อระหว่าง เช้า กับ บ่าย”

แหล่งข้อมูล

  1. Wade, Carole & Carol Tavris. (2008). Invitation to Psychology (4th Ed). Upper Saddle River, NJ : Pearson Education.
  2. Transition of life - http://www.buddhapadipa.org/dhamma-corner/the-transition-of-life/://www.buddhapadipa.org/dhamma-corner/the-transition-of-life/ [2015, May 23].