จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน – ภาคที่ 3 จิตวิทยาผู้ใหญ่ตอนที่ 57 : ยาเสพติดกับวัฒนธรรม (1)

จิตวิทยาผู้ใหญ่

ยาขนานแรกๆ ที่มีผลกระทบต่อสารสื่อประสาท (Neuro-transmitter) มาจากพืชชนิดต่างๆ ที่ผู้คนใช้มายาวนาน ก่อนที่นักวิจัยจะรู้จักว่า อะไรคือส่วนประกอบของพืชเหล่านั้น? และมันออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท (Nervous system) อย่างไร? ยาดังกล่าวได้แก่ โคเคน (Cocaine) เคียวรารี (Curare) และเม็สคาลิน (Mescaline) ซึ่งทั้ง 3 ตัวยานี้ พบในภูมิภาคต่างๆ ของโลก

เกือบ 3,500 ปีมาแล้ว ชาวอินเดียนแดงในทวีปอเมริกาใต้ ได้เคี้ยวใบของต้นโคคา (Coca) ผู้ใหญ่ชาวอินเดียนแดงได้ปฏิบัติตามธรรมเนียมโบราณนี้จนติดเป็นนิสัยในการติดตัวถุงใบโคคาคั่ว (Roasted) ซึ่งประกอบด้วยยาโคเคน โดยที่ ตลอดวันเขาจะเคี้ยวใบโคคาครั้งละเล็กละน้อย เพื่อบรรเทา (Relieve) ความเหนื่อยอ่อน (Fatigue) และความรู้สึกหิว (Hunger)

เมื่อมีการหลั่งสารสื่อประสาทออกมา หลังจากใช้งานเสร็จเรียบร้อยก็จะมีกลไก (Mechanism) ในการกำจัดสารสื่อประสาทที่เหลือใน หลายรูปแบบ หนึ่งในนั้นคือการนำกลับไปใช้ใหม่ (Re-uptake) กล่าวคือการนำสารสื่อประสาทไปบรรจุไว้ใน “ปลายหลอด” (End bulb) เหมือนเดิม เพื่อทำหน้าที่ในการสื่อสัญญาณทางประสาทต่อไป

แต่การทำงานของโคเคนขัดขวางกระบวนการนำกลับไปใช้ใหม่ ทำให้การปลดปล่อยสารสื่อประสาท ยังคงมีผลกระทบต่อเซลล์ประสาท (Neuron) โดยดำรงอยู่ใน “จุดประสานประสาท” (Synapse) ที่ยาวนานขึ้น ดังนั้น เซลล์ประสาทก็ถูกกระตุ้นยาวนานขึ้นเช่นกัน ส่งผลให้เกิดสิ่งเร้าทางสรีระ (Physiological arousal) ที่บรรเทาความเมื่อยล้า

นอกจากนี้ โคเคนยังสร้างความรู้สึกเคลิบเคลิ้ม (Euphoria) ทำให้นักวิจัยจึงเริ่มเข้าใจว่า ทำไมชาวอินเดียนแดงในทวีปอเมริกาใต้ จึงเคี้ยวใบโคคาเวลาเหนื่อยและหิว?

ในการล่าสัตว์ ชาวอินเดียนแดงในประเทศเปรู (Peru) และประเทศอีควาดอร์ (Ecuador) จะเคลือบทาปลายลูกดอก (Blow-dart) ด้วยน้ำผลไม้ที่ผลิตจากพันธ์ไม้องุ่นเขตร้อนบางชนิดที่มีสารพิษ (Tropical vine) ซึ่งประกอบด้วย ยาเคียวรารี ที่ออกฤทธิ์ทำให้เป็นอัมพาต (Paralyzing) ได้

เคียวรารี เป็นยาที่เข้าสู่กระแสโลหิต (Blood steam) ถึงกล้ามเนื้อและขัดขวาง (Block) ตัวรับความรู้สึก (Receptor) บนกล้ามเนื้อ ดังนั้น สารสื่อประสาท (Neuro-transmitter) ซึ่งปรกติมักจะกระตุ้น (Activate) กล้ามเนื้อจะถูกขัดขวาง และกล้ามเนื้อก็จะเป็นอัมพาต

เมื่อถูกยิงด้วยลูกดอกที่เคลือบทาปลายด้วยเคียวรารี กล้ามเนื้อของแขนขาจะเป็นอัมพาต ตามด้วยอัมพาตของกล้ามเนื้อหน้าอกที่ใช้ในการหายใจ เคียวรารีเป็นตัวอย่างของการใช้ยาที่หยุดยั้งสารสื่อประสาท โดยขัดขวางตัวรับความรู้สึกของกล้ามเนื้อ ทุกวันนี้ ส่วนประกอบสำคัญในรูปบริสุทธิ์ (Purified active ingredient) ในเคียวรารี ถูกใช้เพื่อเหนี่ยวนำ (Induce) ให้เกิดอัมพาตในมนุษย์ อาทิ เมื่อแพทย์สอดท่อหายใจเข้าไปในลงในคอยหอยของผู้ป่วย

แหล่งข้อมูล

  1. Plotnik, Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.
  2. Medical Consequences of Drug Abuse : Neurological Effectshttps://www.drugabuse.gov/publications/medical-consequences-drug-abuse/neurological-effects [2015, May 14].