จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน – ภาคที่ 3 จิตวิทยาผู้ใหญ่ตอนที่ 52 : สารสื่อประสาท (3)

จิตวิทยาผู้ใหญ่

ในคริสต์ทศตวรรษ 1970 (พ.ศ. 2513 – 2522) นักวิจัยค้นพบว่า สมองผลิตยาระงับปวด (Pain-killer) ของตนเอง ที่คล้ายคลึงกับมอร์ฟีน (Morphine) เรียกว่า “เอ็นโนฟีน” (Endorphin) ที่ถูกขับออก (Secreted) เพื่อลดผลกระทบจากความเจ็บปวด ระหว่างที่ร่างกายได้รับแรงกระแทก (Bodily stress) อาทิ จากอุบัติเหตุ

ในช่วงต้นของคริสต์ทศวรรษ 1990 หรืออีก 20 ปีต่อมา นักวิจัยค้นพบสิ่งที่น่าประหลาดใจของสารสื่อประสาทที่ชื่อ อะนันดาไม้ด์ (Anandamide) ที่มีส่วนประกอบสารเคมี (Chemical make-up) คล้ายคลึงกับ THC (Tetrahydrocannabinol) อันเป็นส่วนผสมสำคัญ (Active ingredient) ของกัญชา (Marijuana)

นักวิจัยคาดเดา (Speculate) ว่า อะนันดาไม้ด์ อาจช่วยให้มนุษย์รับมือกับความเครียด และความเจ็บปวด และในกลางคริสต์ทศวรรษ 1990 นักวิจัยค้นพบว่าก๊าซไนตริคอ๊อกไซด์ (Nitric oxide) ทำงานเหมือนสารสื่อประสาท และอาจเกี่ยวข้องกับการควบคุมอารมณ์ (Emotion regulation)

ตัวอย่างเช่น หนูทดลองที่ได้รับการเปลี่ยนแปลง (Alter) ทางพันธุกรรม (Genetically altered) ให้ปราศจากก๊าซไนตริค อ๊อกไซด์ มีโอกาสสูงถึง 6 เท่าที่จะเลือกต่อสู้กับผู้อื่น เมื่อเทียบกับหนูทดลองปรกติ บนพื้นฐานผลลัพธ์นี้ นักวิจัยคิดว่า ก๊าซไนตริคอ๊อกไซด์อาจมีความสัมพันธ์กับการลดความก้าวร้าว (Aggression) ในหนูทดลอง และในมนุษย์ด้วย

ปัจจุบัน นักวิจัยได้ค้นพบสารเคมีจำนวนมากมาย ที่มีลักษณะพิเศษ (Characteristics) ของสารสื่อประสาท (Neuro- transmitter) และอีก 40 ถึง 50 ตัวที่มีอิทธิพลต่อการสื่อสารระหว่างเซลล์ประสาท (Neuron) ด้วยกัน แต่ไมมีลักษณะพิเศษทุกประการของสารสื่อประสาทที่แท้จริง

ระบบของกุญแจทางเคมี และกลอนทางเคมี เอื้ออำนวยการสื่อสารที่ได้ประสิทธิผล ระหว่างนับล้านๆ ตัว ของเซลล์ประสาท เพื่อให้เราสามารถเคลื่อนไหว (Move) รับรู้ (Sense) คิด (Think) รู้สึก (Feel) และทำงาน (Function) นับร้อยๆ อย่าง

เมื่อมีการคัดหลั่งสารสื่อประสาทออกมา หลังจากใช้งานเสร็จเรียบร้อย ก็จะมีกลไกในการขจัดสารสื่อประสาทที่เหลือได้หลายรูปแบบ ดังนี้

(1) นำกลับไปใช้ใหม่ (Re-uptake) คือ การนำสารสื่อประสาทไปบรรจุไว้ในที่เหมือนเดิม เพื่อทำหน้าที่ในการสื่อสัญญาณประสาทต่อไป

(2) ทำลายทิ้งโดยเอนไซม์ (Enzymatic degradation) คือ การขจัดสารสื่อประสาทโดยใช้เอนไซม์เป็นตัวช่วย ทำให้สารสื่อประสาทนั้นมีโครงสร้างที่เสียไป และไม่สามารถใช้งานได้อีก และ

(3) การแพร่กระจายออกไป (Diffusion) คือ การแพร่สารสื่อประสาทไปยังบริเวณอื่นๆ

แหล่งข้อมูล

  1. Plotnik, Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.
  2. Neurotransmitter - https://en.wikipedia.org/wiki/Neurotransmitter [2015, April 9].