จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน – ภาคที่ 3 จิตวิทยาผู้ใหญ่ตอนที่ 25 : การปรับปรุงนิสัยการเรียน (2)

จิตวิทยาผู้ใหญ่

อีกหนทางหนึ่งที่จะปรับปรุงผลการเรียน (Performance) คือการจดคำบรรยาย (Note-taking) โดยทั่วไป นักศึกษาทำผิดพลาดอยู่ 2 ข้อ ข้อแรกคือพยายามจดบันทึกทุกๆ อย่าง ที่อาจารย์สอน ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ และสร้างความสับสนเปล่าๆ และข้อ 2 คือการคัดลอกแนวความคิด (Concept) ที่ไม่เข้าใจ แต่หวังจะเรียนรู้โดยการท่องจำเท่านั้น (Sheer memorization) ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากมาก นักวิจัยได้เสนอแนะสำหรับการจดบันทึกที่ได้ประสิทธิผล ดังนี้

  1. จดบันทึกข้อมูล เป็นสำนวนของตนเอง วิธีการนี้ช่วยทำให้แน่ใจว่า นักศึกษาเข้าใจเนื้อหา (Material) และเพิ่มโอกาสการจำได้ยาวนานขึ้
  2. ใช้หัวข้อ (Heading) หรือรูปแบบเค้าโครง (Outline format) วิธีนี้ช่วยให้นักศึกษาจัดระเบียบ และจดจำเนื้อหาได้ดีขึ้น
  3. พยายามผูกความสัมพันธ์ของคำบรรยายหรือเนื้อหา กับสิ่งที่นักศึกษารู้อยู่แล้ว เพื่อช่วยความจำข้อมูลใหม่ เหตุผลที่ผูกกันเป็นคู่ เสริมด้วยตัวอย่าง (Illustration) ภาพวาด (Drawing) และรูปถ่าย (Photo)
  4. นักศึกษาสามารถปรับปรุงความจำโดยตั้งคำถาม ที่เนื้อหาเป็นคำตอบ ตัวอย่างเช่น อะไรคือคือความคิดหลัก (Main idea) ของ . . . ? อะไรคือตัวอย่างของ . . . ? แล้ว . . . สัมพันธ์กับ . . . (สิ่งที่ได้เรียนรู้ก่อนหน้านี้) อย่างไร?

แม้จะมีการจดบันทึก และตั้งจุดมุ่งหมายของผลงาน (Performance) แล้ว แต่ถ้ายังคงผัดวันประกันพรุ่ง (Procrastination) แผนงานที่วางไอย่างดีที่สุด ก็ไม่มีความหมาย นักศึกษาบางคน พบว่า (1) งานอ่านที่ได้รับเป็นการบ้าน (2) การศึกษาเพื่อสอบ และ (3) การเขียนรายงาน เป็นสิ่งที่ยากเย็นเข็ญใจ จนไม่อยากเริ่มต้นด้วยซ้ำ ต่อไปนี้เป็นคำแนะนำเพื่อรับมือกับการผัดวันประกันพรุ่ง

  1. หยุดคิดเกี่ยวกับจุดมุ่งหมายสุดท้าย (Final goal) อาทิ อ่าน 30 หน้า หรือต้องสอบกลางเทอมถึง 2 ครั้ง ที่ดูเหมือนเป็นงานมโหฬาร (Overwhelming)
  2. แตกการบ้าน (Assignment) ออกเป็นจุดมุ่งหมายหลายหัวข้อที่เล็กลง และง่ายต่อการบรรลุ เริ่มต้นจุดมุ่งหมายที่เล็กๆ เมื่อสำเร็จแล้ว ค่อยดำเนินต่อไปยังจุดหมายอื่นๆ ที่เล็กๆ เหมือนกัน จนกว่าจะครบทุกจุดมุ่งหมายที่เล็กๆ
  3. จดบันทึกตารางการทำงานที่เป็นจริง (Realistic goal) เพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายเล็กๆ แต่ละข้อ โดยกำหนดเวลาและสถานที่ของการศึกษา และสิ่งที่ควรบรรลุได้ในวันนั้นๆ ใช้วิธีการที่หลากหลาย (Variety) ของการตอกย้ำตนเอง (Self-reinforcement) ในการบรรลุจุดมุ่งหมายเฉพาะในแต่ละวัน

ทุกคนมีการผัดวันประกันพรุ่งบ้าง แต่จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ขึ้น ถ้ามีการผัดวันและเวลาสิ้นสุด (Deadline) อย่างต่อเนื่องของโครงงาน (Project) ต่างๆ รวมทั้งการสอบและการส่งรายงาน

คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญมืออาชีพ (Professional) ก็คือ (1) หยุดการผัดวันประกันพรุ่ง (2) ตั้งจุดมุ่งหมายเฉพาะ และ (3) ให้รางวัลตนเอง การปฏิบัติตามคำแนะนำที่ได้รับการพิสูจน์มาแล้วเหล่านี้ จะเพิ่มโอกาสความสำเร็จของนักศึกษา

แหล่งข้อมูล

  1. Plotnik, Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.
  2. 10 Highly Effective Study Habits - http://psychcentral.com/lib/top-10-most-effective-study-habits/000599 [2015, October 3].