จิตวิทยาผู้ใหญ่ตอนที่ 209: การประยุกต์ใช้การสะกดจิต (1)

จิตวิทยาผู้ใหญ่-209

      

      เราคงจะเคยเห็นการสะกดจิต (Hypnosis) ในวงการบันเทิง เมื่อผู้คนในกลุ่มผู้เข้าชมอาสาสมัครขึ้นบนเวที เพื่อให้ถูกสะกดจิต แล้วแสดงพฤติกรรมที่ผิดปรกติแต่สนุกสนาน อย่างไรก็ตาม ก็มีกรณีที่ใช้การสะกดจิตอย่างสมเหตุผล (Legitimate) ในทางการแพทย์และการบำบัดพฤติกรรม อาทิ การรักษาฟันที่เจ็บปวด (Pain)

      การระงับปวด (Analgesia) ด้วยสะกดจิตช่วยผ่อนคลาย (Relax) ความกลัวหรือความกังวล (Anxiety) หรือช่วยให้ผู้ป่วยรับมือกับโรคภัยระยะสุดท้าย (Terminal disease) โดยกระตุ้นให้เขารับมือกับสถานการณ์ที่เลวร้าย อย่างไรก็ตาม มีประจักษ์หลักฐานว่า ผู้ป่วยที่อ่อนไหวมาก (Susceptible) ต่อการสะกดจิต จะสามารถสนองตอบต่อคำสั่งในการลดความเจ็บปวดและการผ่อนคลายของร่างกาย ได้ดีกว่าผู้ที่อ่อนไหวน้อยต่อการสะกดจิต

      ความเจ็บปวดที่เกิดจากสายรัด (Tourniquet) หรือสิ่งผูกมัดรอบแขน จะยุติการลำเลียงโลหิตชั่วคราว จนเกิดเป็นความเจ็บปวดที่อาจส่งผลให้เกิดความเจ็บปวดอย่างสาหัส (Considerable pain) ได้ นักวิจัยเพิ่งค้นพบเมื่อไม่นานมานี้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในสมองของผู้เข้ารับการทดลอง (Subject) ระหว่างการสะกดจิตเพื่อระงับความเจ็บปวด

      นักวิจัยใช้ PET (= Position emission typography) Scan ในการวัดกิจกรรมในส่วนต่างๆ ของสมอง หลังจากที่ผู้เข้ารับการทดลองถูกสะกดจิตให้จุ่มมือในน้ำอุ่น (Lukewarm) หรือน้ำร้อนจัด คำสั่งภายใต้การสะกดจิตก็คือ ให้คิดถึงความเจ็บปวดเป็นสิ่งที่ไม่รื่นรมย์มากกว่า (More unpleasant) คำสั่งนี้จะส่งผลให้กิจกรรมลดลงในสมองกลีบหน้า (Frontal lobe)

      อีกคำสั่งภายใต้การสะกดจิตก็คือให้คิดถึงความเจ็บปวด เป็นสิ่งที่ไม่รื่นรมย์น้อยกว่า (Less unpleasant) จะส่งผลให้เพิ่มกิจกรรมสมองในอาณาบริเวณเดียวกัน แต่คำสั่งภายใต้การสะกดจิตว่าความเจ็บปวดเป็นสิ่งที่ไม่รื่นรมย์มากกว่าหรือน้อยกว่า มิได้เพิ่มหรือลดกิจกรรมสมองกลีบขมับ (Parietal lobe) ซึ่งเป็นจุดรับความรู้สึกเจ็บปวด (Reception of pain sensation)

      นักวิจัยสรุปว่า คำสั่งภายใต้การสะกดจิต สามารถเปลี่ยนแปลงการหยั่งรู้ (Perception) ความเจ็บปวด ว่าเป็นสิ่งที่ไม่รื่นรมย์มากกว่าหรือน้อยกว่า แต่คำสั่งภายใต้การสะกดจิตมิได้มีผลกระทบต่อการรับรู้ความรู้สึกเจ็บปวด ซึ่งหมายความว่า ระหว่างการระงับความเจ็บปวดด้วยการสะกดจิต ผู้เข้ารับการทดลองจะยังรู้สึกเจ็บปวด

      แต่จะสร้างความรำคาญ (Bother) มากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับว่า คำสั่งภายใต้การสะกดจิตให้คิดถึงความเจ็บปวดว่าเป็นสิ่งที่ไม่รื่นรมย์มากกว่าหรือน้อยกว่า กล่าวคือความคิดของหรือความคาดหวังของผู้เข้ารับการทดลองที่ถูกสะกดจิต ได้เปลี่ยนแปลงการหยั่งรู้ความเจ็บปวดของเขาอย่างแท้จริง

      

แหล่งข้อมูล:

  1. Plotnik Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.
  2. Hypnosis - https://en.wikipedia.org/wiki/Hypnosis [2019, April 13].