จิตวิทยาผู้ใหญ่ ตอนที่ 182: จากการนอนหลับสู่การตื่นนอน (1)

จิตวิทยาผู้ใหญ่-182

      

      นักวิจัยได้ศึกษาและบันทึกเป็นกร๊าฟซึ่งการเปลี่ยนแปลงในคลื่นสมอง สิ่งเร้าทางสรีรวิทยา (Physiological arousal) และการฝัน เมื่อผู้เข้ารับการวิจัย (Subject) ดำเนินสู่ขั้นตอน¬ของการนอนหลับ เมื่อเราเข้านอนในเวลากลางคืน เราอาจคิดว่าเรานอนหลับไป 8 ชั่วโมง อาจพลิกตัวบ้างและอาจมีฝันบ้าง แต่แท้ที่จริงแล้ว การนอนหลับมิใช่เป็นสภาวะที่ต่อเนื่อง (Unbroken state) แต่เป็นขั้นตอนที่เกิดขึ้นแล้วเกิดขึ้นซ้ำ (Recurring) ครั้งแล้วครั้งเล่า คล้ายกับการขึ้น-ลงครั้งแล้วครั้งล่าของการขี่รถไฟเหาะ (Roller coaster)

      การค้นพบเมื่อไม่นานมานี้ แสดงว่าการได้นอนหลับแบบ REM (= Rapid eye movement หรือการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วของลูกตา) หลายๆ ช่วงเวลาเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้สมองจดจำสิ่งที่เรียนรู้ในวันก่อนหน้านั้น กล่าวคือ ช่วยให้เราเก็บรักษา (Store) หรือถอดรหัส (Encode) ข้อมูลที่อยู่ในความทรงจำ ดังนั้น นักวิจัยจึงแนะนำให้นักศึกษานอนหลับให้เพียงพอในคืนก่อนสอบ เพื่อว่าสิ่งที่เขาได้เรียนรู้ในวันก่อนหน้านั้นจะเพิ่มโอกาสการเก็บรักษาไว้ในความทรงจำของสมอง [และสอบได้คะแนนดี]

      เราจะรู้สึกตื่นตัว (Alert) มากหรือน้อยในตอนเช้า ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับว่าเราเป็นคนตื่นเช้าตรู่ (Early bird) หรือเป็นคนเข้านอนดึกดื่น (Night owl) นักวิจัยได้ให้คำนิยาม (Definition) ที่แม่นยำอย่างละเอียด โดยการพัฒนาและใช้แบบสอบถาม (Questionnaire) ซึ่งเป็นวิธีการของการได้ข้อมูลโดยการขอให้ผู้เข้ารับการวิจัย (Subject) อ่านรายการคำถาม แล้วเลือกกาเครื่องหมายคำตอบเฉพาะเจาะจง

      สำหรับคำถามเช้าตรู่-ดึกดื่น นักวิจัยขอให้ผู้เข้ารับการวิจัยให้คะแนนเวลาที่ชอบมากกว่า (Prefer) ในการเข้านอน ตื่นนอน และทำกิจกรรมทางร่างกายและจิตใจ พร้อมทั้งความรู้สึกของการตื่นตัวในตอนเช้าและกลางคืน แล้วพบว่า คนเช้าตรู่ที่ทำคะแนนสูงกว่า 74 [จาก 100] ชอบมากกว่าที่จะตื่นแต่เช้าตรู่ เข้านอนแต่หัวค่ำ และทำกิจกรรมตอนเช้า

      แต่คนดึกดื่นที่ทำคะแนนต่ำกว่า 45 [จาก 100] ชอบมากกว่าที่จะตื่นสาย เข้านอนดึก และทำกิจกรรมในตอนบ่ายถึงค่ำ ส่วนผู้ที่ทำคะแนนระหว่าง 45 ถึง 75 [จาก 100] มิได้แสดงความชอบมากกว่าระหว่างเช้าตรู่กับดึกดื่น

      ผู้ที่แสดงความชอบมากกว่า มิได้ตัดสินใจอย่างรู้ตัวที่จะเป็นคนตื่นเช้าตรู่หรือคนเข้านอนดึกดื่น แต่เพียงทำตามความชอบมากกว่าทางพันธุกรรมที่มีอยู่ในตัว (Built-in genetic preference) ซึ่งควบคุมด้วยจังหวะนอนและตื่น (Circadian rhythm) เหตุผลหนึ่งคือความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิขึ้น-ลงในร่างกายตลอดวัน

      

แหล่งข้อมูล:

  1. Plotnik Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.
  2. World sleep societyhttp://worldsleepsociety.org/about/bylaws/ [2018, October 6].