จิตวิทยาผู้ใหญ่ตอนที่ 139: จิตฟิสิกส์ (1)

จิตวิทยาผู้ใหญ่-139

จิตฟิสิกส์ (Psychophysics) หมายถึงการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างคุณสมบัติของสิ่งเร้าที่กระตุ้นทางกายภาพและปฏิกิริยาสนองตอบเชิงจิตวิทยาที่มีต่อสิ่งเร้าเหล่านั้น สมมุติว่ามีผู้คนกำลังเล่นดนตรีที่เสียงดังมากจนเกินไป แล้วเราขอให้เขาหรี่เสียงลง (Volume down) ทันทีที่เขาหรี่เสียงลงแล้ว แต่เราอาจยังรู้สึกยังดังเหมือนเดิม

คำอธิบายสำหรับปรากฏการณ์ (Phenomenon) เช่นนี้ อาจพบได้ในผลงานของนักจิตวิทยาด้านการหยั่งรู้ (Perception) อีกท่านหนึ่งที่มีชื่อเสียงโด่งดังจากอดีต (Historical figure) ชื่อ อี เอช เวเบ่อร์ (E. H. Weber) เขาค้นหาคำตอบของคำถามว่า เราตัดสินใจได้อย่างไร ว่าสิ่งกระตุ้น (Stimulus) อาทิ ดนตรีเสียงดัง ได้เพิ่มหรือลดความเข้มข้น (Intensity)?

ปัญหานี้เป็นเรื่องการวัด (Measure) ความแตกต่างใน “จุดแบ่ง” (Threshold) ระหว่างสิ่งกระตุ้น 2 อย่าง อาทิ เสียงดนตรีที่ดังมาก กับเสียงดนตรีที่ไม่ค่อยดัง เวเบ่อร์ พัฒนาแนวความคิด (Concept) เรื่อง “ความแตกต่างเพียงสังเกตเห็น” (Just Notice-able Difference : JND) ซึ่งหมายถึงการเพิ่มขึ้นหรือลดลงน้อยที่สุดในความเข้มข้นของสิ่งกระตุ้นที่คนเราสามารถค้นพบ

ตัวอย่างเช่น การวัด JND ในน้ำหนัก (Weight) เวเบ่อร์ขอให้ผู้คนเปรียบเทียบสิ่งกระตุ้นที่มีหลากหลายความเข้มข้น แล้วให้แจ้งให้ทราบว่า เมื่อไรที่เขาเหล่านี้ได้ค้นพบความแตกต่างดังกล่าว เขาค้นพบ (Discover) ว่า ถ้าเขานำเสนอสิ่งกระตุ้น 2 อย่างที่มีความเข้มข้นต่ำ อาทิ ผู้คนสามารถค้นพบความแตกต่างระหว่างน้ำหนัก 2 ออนซ์ (57 กรัม) กับ 3 ออนซ์ (85 กรัม) ได้ง่าย

แต่ถ้าเขานำเสนอสิ่งกระตุ้นที่มีความเข้มข้นสูง อาทิ น้ำหนัก 40 ปอนด์ (18.1 กิโลกรัม) กับ 41 ปอนด์ (18.6 กิโลกรัม) ผู้คนจะไม่สามารถค้นพบความแตกต่าง สำหรับสิ่งกระตุ้นที่มีน้ำหนักมาก จะต้องอาศัยความแตกต่างในความเข้มข้นค่อนข้างมาก จึงจะสังเกตเห็น (JND)

ข้อสังเกตของเวเบ่อร์ในเรื่อง JND เป็นพื้นฐานของสิ่งที่กลายมาเป็น “กฎของเวเบ่อร์” (Weber’s Law) ซึ่งกล่าวว่า การเพิ่มขึ้นของในความเข้มข้นของสิ่งกระตุ้นที่จำเป็นต่อการผลิต JND เพิ่มขึ้น เป็นสัดส่วน (Proportion) กับความเข้มข้นของสิ่งกระตุ้นแต่แรกเริ่ม (Initial)

กฎของเวเบ่อร์ใช้ในการอธิบายว่า ถ้ามีคนเล่นระบบเสียงแยก (Stereo) ดังมาก การจะค้นพบ JND ได้ จะต้องหรี่เสียงลงมากกว่าปรกติที่ผู้คนอยากให้ (Prefer) ลดความดังลง และ ณ ระดับความเข้มข้นที่ต่ำ การเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย ระหว่างสิ่งกระตุ้น 2 อย่าง จะสามารถค้นพบ JND ได้ แต่ ณ ระดับความเข้มข้นสูง ต้องมีการเปลี่ยนแปลงมาก ระหว่างสิ่งกระตุ้น 2 อย่าง จึงจะสามารถค้นพบ JND ได้

แหล่งข้อมูล:

  1. Plotnik Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.
  2. Perception https://en.wikipedia.org/wiki/Perception [2017, December 9].