จิตวิทยาผู้ใหญ่ ตอนที่ 134: ระบบเทียมของการได้ยิน (2)

จิตวิทยาผู้ใหญ่-134

ถ้าประสาทการได้ยิน (Auditory nerve) ไม่ถูกแตะต้อง (Intact) เราอาจใช้การฝังโสตประสาท (Cochlea implant) ในการรักษาหูหนวกจากเส้นประสาท (Neural deafness) ซึ่งมีสาเหตุจากการที่เซลล์ขน (Hair cell) ถูกทำลาย อันมีผลกระทบ (Affect) ต่อ 90% ของผู้ที่ประสบความเสื่อมถอย (Impairment) ของการได้ยิน

การฝังโสตประสาท เป็นการฝังเครื่องไฟฟ้าขนาดจิ๋ว (Miniature electric device) เข้าไปในโสตประสาทผ่านการผ่าตัด (Surgically implanted) การฝังดังกล่าวเปลี่ยนแปลงคลื่นเสียงให้กลายเป็นสัญญาณไฟฟ้า (Electrical signal) ที่ถูกป้อน (Feed) เข้าไปในประสาทการได้ยิน อันจะถูกนำพาไปสู่สมองเพื่อการประมวลผล (Processing)

ทั่วโลก (Worldwide) มีประมาณ 32,000 คน (ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก) ที่หูหนวกจากเส้นประสาท แล้วได้รับการฝังโสตประสาท ซึ่งความต้องการฝังโสตประสาทนี้ มีอัตราเพิ่มขึ้นประมาณ 25% ต่อปี เด็กที่หูหนวกตั้งแต่แรกเกิด จะมีปฏิกิริยา (React) ตื่นเต้น เมื่อได้ยินเป็นครั้งแรก หลังการฝังโสตประสาท

ล่าสุด การฝังโสตประสาทมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 50,000 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1,650,000 บาท) แต่ทำให้ผู้ใหญ่ที่ได้เรียนรู้การพูดก่อนจะหูหนวก สามารถเข้าใจประมาณ 80% ของประโยค โดยไม่ต้องอาศัยการบอกเป็นนัยจากใบหน้า (Facial cue) และสามารถเข้าใจถึง 90% - 100% ของประโยค เมื่อเฝ้าสังเกตใบหน้าและริมฝีปากของผู้พูด

แต่ผลลัพธ์มีความซับซ้อนมากกว่าสำหรับเด็กเล็กแรกเกิดจนถึงอายุ 2 ขวบ ซึ่งมิได้ได้เรียนรู้การพูดก่อนจะหูหนวก แพทย์บางคนเชื่อมั่นว่า การฝังโสตประสาทจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเรียนรู้ภาษาใบ้ (Sign language) ได้อย่างง่ายดาย แต่อาจมีความยุ่งยากในการเรียนรู้ภาษาพูด

อย่างไรก็ตาม การศึกษาระยะยาว รายงานว่า ในเด็กเล็กที่หูหนวกก่อนเรียนรู้การพูด การฝังโสตประสาท จะทำให้เด็กเล็กสามารถเข้าใจประมาณ 4% ของคำพูดและประโยค หลัง 1 ปี 31% หลัง 2 ปี และ 74% หลัง 4 ปี แต่แพทย์ก็เตือนว่า เด็กเล็กจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูการพูดอย่างเข้มข้น (Intensive speech rehabilitation) หลังการฝังโสตประสาท

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การฝังโสตประสาทจะได้ประสิทธิผล (Effective) ในผู้ใหญ่ วัยรุ่น (Adolescent) และเด็กเล็กที่ได้เรียนรู้การพูดก่อนหูหนวก การฝังโสตประสาทอาจได้ประสิทธิผลน้อยลง (แต่ก็ยังเป็นประโยชน์) ในเด็กเล็กที่หูหนวกก่อนได้เรียนรู้การพูด สรุปแล้ว ระบบเทียม (Artificial) ของการได้ยิน ได้แปลงโฉมพลังงาน (Energy) ให้กลายเป็นสัญญาไฟฟ้า (Electrical) หรือจากความรู้สึก (Sensation) ที่ไร้ความหมาย (Meaningless) ให้กลายเป็นความรู้สึกที่ได้ประโยชน์ (Useful)

แหล่งข้อมูล:

  1. Plotnik Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.
  2. Hearing loss https://en.wikipedia.org/wiki/Hearing_loss [2017, November 4].