จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 4 จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 70 : ประสาทสัมผัสกับเชาว์ปัญญา (1)

จิตวิทยาผู้สูงวัย

เวลาสนองตอบ (Reaction time) ไม่ได้เป็นเครื่องวัด (Gauge) เดียวของการเสื่อมถอยทางประสาท (Neurological decline) ในช่วงปลายของชีวิต อีกมาตรวัด (Measure) หนึ่งที่มีประโยชน์คือ ความสามารถของประสาทสัมผัส (Sensory ability) อันได้แก่ คุณภาพของการได้ยิน (Hearing) การมองเห็น (Sight) การสัมผัส (Touch) ฯลฯ

เป็นที่รับรู้กันมานาน (Established) แล้วว่า ความสามารถของประสาทสัมผัส มีสหสัมพันธ์ในเชิงบวกกับคะแนนทดสอบทางเชาว์ปัญญาในผู้สูงอายุ ตัวอย่างเช่น ความคมชัด (Acuity) ที่เสื่อมถอย จะเชื่อมโยงกับคะแนนทดสอบทางเชาว์ปัญญาที่ต่ำ ดังนานาวิจัยต่อไปนี้

  • การวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่า ภายใต้เงื่อนไขบางประการ มาตรวัดของประสาทสัมผัส และทักษะกระตุ้นประสาท (Sensorimotor skill) สามารถพยากรณ์ส่วนใหญ่ (59%) ของความแปรปรวน (Variance) ในคะแนนทดสอบเชาว์ปัญญาในผู้สูงอายุ ความสัมพันธ์นี้ดูเหมือนจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ตลอดช่วงอายุของผู้ใหญ่ (Adulthood)
  • การวิจัยอีกชิ้นหนึ่งพบว่า ความแปรปรวนในคะแนนทดสอบเชาว์ปัญญา ที่อธิบายโดยการทำงานของประสาทสัมผัส (วัดผลจากการได้ยิน [Auditory] และความคมชัดในการมองเห็น [Visual acuity]) นั้น เพิ่มจาก 11% ในกลุ่มของผู้ใหญ่อายุต่ำกว่า 70 ปี ขึ้นไปเป็น 31% ในกลุ่มผู้ใหญ่อายุระหว่าง 70 ถึง 103 ปี ในกลุ่มทั้งสอง การทำงานของประสาทสัมผัส มีสหสัมพันธ์กับเชาว์ปัญญาไหล (Fluid intelligence)
  • การวิจัยอีกชิ้นหนึ่งพบสหสัมพันธ์ค่อนข้างสูง ระหว่างทักษะการดม (Olfactory) กับทักษะการรับรู้ (Cognitive) ในตัวอย่างของแฝดแท้ (Identical twin) ในกลุ่มผู้ใหญ่วัยกลาง กับกลุ่มผู้ใหญ่วัยปลาย นักวิจัยสรุปว่า สัดส่วน (Proportion) ของความสัมพันธ์ดังกล่าว ถูกปัจจัยทางพันธุกรรม (Genetic) ลดความเข้มข้น (Mediated) ลงอย่างมีนัยสำคัญ
  • การวิจัยอีกชิ้นหนึ่งพบว่า ระดับการมอง (Perception) ของผู้สูงอายุ ในเรื่องสมรรถนะพื้นฐาน (Basic competency) กับขอบเขต (Degree) ที่เขามีส่วนร่วมในกิจกรรมสังคม ล้วนมีสหสัมพันธ์กับความคมชัดของประสาทสัมผัส (Sensory acuity) และโดยเฉพาะการมองเห็น (Vision)

การค้นพบเหล่านี้สะท้อน (Echo) ข้อโต้แย้งที่ว่า เชาว์ปัญญาในช่วงปลายของชีวิต อย่างน้อยขึ้นอยู่กับสุขภาพทางกาย (Physical health) ในระดับที่ไม่ซับซ้อน (Simplistic) ผลกระทบของการเสื่อมถอยของประสาทสัมผัส สามารถอธิบายได้ด้วยการเสื่อมถอยของสิ่งที่ป้อนเข้าประสาทสัมผัส (Sensory input) อันเป็นวัสดุด้อยคุณภาพ ย่อมนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ด้อยคุณภาพด้วย ดังคำกล่าวที่ว่า “ขยะนำเข้า ขยะนำออก” (Garbage in, garbage out)

แหล่งข้อมูล

1. Stuart-Hamilton, Ian. (2012). The Psychology of Ageing (5th Ed). London, UK: Jessica Kingsley Publishers.

2. Observing Changes: The Inner Intelligence of our Sensory Perceptions - https://www.linkedin.com/pulse/observing-change-inner-intelligence-our-sensory-michael-vasquez [2016, August 16].