จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 4 จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 24: ปัจจัยกระทบอายุคาด (2)

จิตวิทยาผู้สูงวัย

ผลวิจัยแสดงว่า ผู้บริโภคอาหารทุกอย่าง (Omnivorous) แต่มีสัดส่วนของเนื้อสัตว์ใน “ปริมาณต่ำ จะมีแนวโน้มต่ำที่จะเป็นโรคหัวใจและโรคมะเร็ง ถ้าเราละเว้น (Dispense) อาหารพิเศษ [ที่กำหนดโดยผู้เชี่ยวชาญ]” แล้วพิจารณาเฉาะสิ่งที่ผู้คน “บริโภคจริง จะพบหลักฐานที่น่ากังวลใจว่า มีเพียงส่วนน้อยของผู้สูงอายุที่บริโภคอาหารอย่างสมดุล (Balanced meals)”

ตัวอย่างเช่น นักวิจัยพบว่า น้อยก่วา 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุในสหรัฐอเมริกาที่กินอาหารตามที่มาตรฐานแนะนำ (Recommended) ในปริมาณของเนื้อสัตว์ ข้าว (Grain) ผลไม้ และผัก อันที่จริง มีเพียงส่วนน้อยของผู้สูงอายุบริโภคอาหารที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ (Nutritionally sound)

สำหรับผู้ที่ปฏิเสธความคิดของการออกกำลังกาย และอาหารที่มีแคลอรี่จำกัด (Limited calorie) อาทิ ผักกาดหอม (Lettuce) และเต้าหู้ (Tofu) และหวังว่า วิทยาศาสตร์การแพทย์จะช่วยการชะลอวัย (Anti-ageing) อาจจะต้องคอยไปอีกนาน เพราะชราภาพ (Ageing) เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการหลากหลายทางชีวเคมี (Multiple biochemical processes) ซึ่งเพื่อให้ได้ประสิทธิผล ไม่อาจรักษาด้านหนึ่งโดยไม่รักษาอีกด้านหนึ่งของกระบวนการ

ถึงแม้ว่า จะมีการค้นพบสิ่งมหัศจรรย์ชนิด “ทะลายกำแพง” (Break-through) ในการวิจัยด้านหนึ่งของการชะลอวัย ในวันพรุ่งนี้ นักวิจัย อาจต้องรอคอยการวิจัยด้านอื่นตามให้ทัน จึงจะรักษาอย่างได้ประสิทธิผล และถ้าค้นพบวิธีรักษาชราภาพได้ ก็อาจสร้างปัญหามากกว่าแก้ปัญหา

กล่าวคือ หากทุกคนสามารถหลีกเลี่ยงชราภาพได้ โลกก็จะมีประชากรล้นหลาม (Overpopulation) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ (Inevitable) ถ้าเป็นเช่นนั้น การรักษาชราภาพก็คงต้องได้รับการปันส่วน (Ration) [เพราะทุกคนจะแย่งชิงกัน] หรือถูกสั่งห้าม (Banned) ไปเลย ซึ่งทั้งสองกรณี จะสร้างความไม่สงบ (Unrest) ทางสังคมที่รุนแรย่าง

อย่างไรก็ตาม เราสามารถตั้งข้อสังเกตว่า ปัจจัยทางสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิต (Life style) ตามลำพังไม่สามารถอธิบายทุกสิ่งได้อย่างสมบูรณ์ แม้จะมีการอวดอ้าง จนได้รับความสนใจจากนานาสื่อไปทั่ว กลยุทธ์ต่างๆ ของการยืดอายุ ล้วนแต่เป็นการคาดเดา (Speculative) จากการคำนวณ (Extrapolation) ผลการทดลองในห้องปฏิบัติการ (Laboratory) มากกว่าการสังเกตจากชีวิตจริง (Real-life observation)

นอกจากนี้ มิติอื่นๆ ของวิถีชีวิต อาทิ การสนับสนุนจากชุมชน ก็มีผลกระทบในการปกป้องจากโรคภัยไข้เจ็บ นักวิจัยได้ศึกษาผู้สูงอายุจำนวน 1,500 คน เป็นเวลา 10 ปี แล้วพบว่า เมื่อเริ่มต้นการวิจัย ผู้สูงอายุที่มีเพื่อน 5 – 6 คน มีโอกาสน้อยลง 25% ที่จะตายในระหว่างการศึกษา เมื่อเปรียบเทียบกับผู้สูงอายุที่ไม่มีเพื่อนเลย กล่าวคือ เราต้องมองภาพใหญ่ด้วย แทนที่จะพิจารณาทีละปัจจัยตามลำพัง (Isolation) อาทิ ใช้ดัชนีสุขภาพทางร่างกาย เป็นตัวชี้วัดเพียงตัวเดียว

แหล่งข้อมูล

  1. Stuart-Hamilton, Ian. (2012). The Psychology of Ageing (5th Ed). London, UK: Jessica Kingsley Publishers.
  2. Life expectancy - http://en.wikipedia.org/wiki/Life_expectancy [2015, September 29].