จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 4 จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 21: ความแปรปรวนของชราภาพ

จิตวิทยาผู้สูงวัย

สาเหตุหลัก (Principal cause) ของการตาย ในโลกที่พัฒนาแล้ว คือโรคเรื้อรัง (Chronic) ที่ยาวนาน (Long term) อาทิ โรคมะเร็ง และปัญหายืดเยื้อ (Long lasting) ของหลอดเลือดหัวใจ (Cardio-vascular) และปอด (Pulmonary) ซึ่งนักวิจัยคาดว่า จะเป็น 90% ของภาระสุขภาพ (Health burden) ในปี พ.ศ. 2573

ในประเทศที่กำลังพัฒนา ปัญหาเหล่านี้จะลดเหลือเป็นเพียง 54% ของภาระสุขภาพ แต่ต้องเผชิญกัยปัญหาโรคติดต่อ (Communicable diseases) และปัญหาอื่นๆ ที่เกิดจากโภชนาการ (Nutrition) และปริกำเนิด (Perinatal) ซึ่งเป็น 32% ของภาระสุขภาพ แต่เป็นเพียง 3% ของภาระสุขภาพในประเทศที่พัฒนาแล้ว

สิ่งเหล่านี้มีผลกระทบที่กว้างไกล (Ramifications) ของพยากรณ์อายุคาด (Life expectancy) เมื่อประเด็นภาระสุขภาพในประเทศกำลังพัฒนาได้รับการแก้ไขแล้ว อายุคาด (จากประสบการณ์ในอดีตของประเทศพัฒนาแล้ว) ก็น่าจะพุ่งกระฉูดเหมือนติดจรวด (Sky-rocket) ซึ่งก็มีสัญญาณที่กำลังเกิดขึ้นอยู๋ในหลายประเทศ ในทุกวันนี้

ดังนั้นในหลายๆ ประเทศที่กำลังพัฒนา ได้พยากรณ์ว่า จำนวนผู้คนที่มีอายุเกิน 65 ปี จะเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าของอัตรา ในประเทศพัฒนาแล้ว ในปี พ.ศ. 2593 อย่างไรก็ตาม ตัวเลขนี้อาจไม่เกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนาที่ต้องเผชิญกับปัญหาโรคเอดส์/เอชไอวี (AIDS/HIV) อย่างหนัก โดยเฉพาะในทวีปอัฟริกา

แม้จะมีความแตกต่างอย่างมากในระดับประเทศ แต่ก็มีความแปรปรวนไม่น้อยของอายุคาด ในระดับภาค (Regional) ภายในอังกฤษเอง อายุคาดต่ำสุด ณ แรกเกิด ก็คือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (76.8 ปี) และสูงสุด ก็คือภาคตะวันตกเฉียงใต้ (79.2 ปี) และในระดับท้องถิ่น (Local) ความแปรปรวนก็ยิ่งน่าประหลาดใจ (Startling)

ในเขตที่ผู้คนจะมีอายุคาดที่สูง มักมีรายได้เฉลี่ย (Mean income) สูง และทรัพย์สินทางการเงินมากเช่นกัน ข้อมูลนี้สอดคล้องกับรายงานในประเทศอื่นๆ ที่พบว่า ความแปรปรวนของอายุคาด ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับสถานะทางเศรษฐกิจ-สังคม (Socio-economic status)

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ในสังคมที่ด้อยความมั่งคั่ง (Less affluent) ผู้คนมักจะมีอายุคาดที่ต่ำ และด้อยโอกาสที่จะมีชีวิตที่แข็งแรง ปรากฏการณ์เช่นนี้ อธิบายได้ด้วยเหตุผลของระดับความเครียด (Stress) โภชนาการ และการเข้าถึงบริการดูแลสุขภาพ (Health-care)

แต่ความแปรปรวนทั้งหมดของอายุคาด มิได้ขึ้นอยู่กับความมั่งคั่งทางการเงิน (Wealth) เพียงอย่างเดียว แต่ปัจจัยวิถีชีวิต (Life style) ก็มีบทบาทสำคัญไม่น้อย ผลการวิจัยได้แสดงให้เห็นว่า ในชุมชนที่ผู้คนสนับสนุนซึ่งกันและกัน พร้อมด้วยชีวิตสังคมที่ยึดครอบครัวเป็นศูนย์กลาง (Family center) จะมีแนวโน้มของอายุคาดที่สูงขึ้น

ในอีกมิติหนึ่ง ความคิดของการค้นหาหนทางที่จะดำรงรักษาความเยาว์วัย เป็นผลกระทบที่ทรงพลังต่อจินตนาการของผู้คนส่วนใหญ่ อันเป็นที่มาของความเชื่อในเรื่อง “น้ำพุแห่งเยาว์วัย” (Fountain of youth)

แหล่งข้อมูล

  1. Stuart-Hamilton, Ian. (2012). The Psychology of Ageing (5th Ed). London, UK: Jessica Kingsley Publishers.
  2. Ageing - http://en.wikipedia.org/wiki/Ageing [2015, September 8].