จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 190 : สู่ชีวิตวัยเกษียณ (1)

จิตวิทยาผู้สูงวัย-190

      

      งานวิจัยพบผลลัพธ์ผสม (Mixed) ของความแตกต่างทางวัฒนธรรมในบั้นปลายของชีวิต สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนมากก็คือ ชนหมู่น้อย (Ethnic minorities) มักเผชิญกับปัญหาสุขภาพ และส่วนหนึ่งของประเด็นนี้ เกิดจากผลกระทบร่วม (Confounding) ของชนชั้นทางเศรษฐกิจและสังคม (Socio-economic class) แต่ในมิติของจริยธรรม (Moral terms) แล้ว มันไม่อาจใช้เป็นข้ออ้างของความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหานี้เลย

      อย่างไรก็ตาม พึงสังเกตว่า แม้ชนหมู่น้อยโดยภาพรวมของกลุ่มอาจประสบปัญหานี้ แต่ไม่อาจสรุปโดยอัตโนมัติ ว่าเป็นปัญหาที่แต่ละบุคคลในกลุ่มวัฒนธรรมใดวัฒนธรรมหนึ่งเผชิญอยู่ และงานวิจัยหลายชิ้น ก็พบความแตกต่าง (Variability) ในคะแนนสำรวจของแต่ละบุคคลด้วย

      ดังนั้น การอภิปรายในเรื่องปัญหาของชนหมู่น้อย จึงเป็นเพียงการอธิบาย (Descriptive) มิใช่การกำหนดให้ (Prescriptive) ข้อแม้ (Caveat) จากข้อความนี้ ก็คือ อาจสรุปได้ว่า บนพื้นฐานของการค้นพบเมื่อไม่นานมานี้เอง “ประสบการณ์ของผู้สูงวัย อาจได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรม”

      นี่หมายความว่า ในหลายๆ มิติ วิถีชีวิต (Life style) และคุณภาพของชีวิต (Quality of life) ของผู้สูงวัย มิได้ถูกกำหนดจนแก้ไขไม่ได้ (Set in the stone) ดังนั้น เรามีประจักษ์หลักฐาน (Evidence) อีกครั้งหนึ่งว่า เราไม่จำเป็นต้องถูกบังคับ (Doomed) ให้ดำเนินตามเส้นทางชีวิต (Life course) เดียวที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ (Inevitable)

      แม้ว่าบางคนจะคิดถึงการเกษียณจากการทำงานในมิติของอายุ แต่เป็นความคิดที่ไม่ถูกต้องนัก (Inaccurate) ความคิดในรูปแบบของ “อายุบำนาญ” (Pensionable age) เป็นปรากฏารณ์ (Phenomenon) ของคริสต์ศตวรรษที่ 20 ถึงกระนั้น ก็มิใช่แนวทางปฏิบัติอย่างเคร่งครัด (Rigorous) ในทุกประเทศ

      ตัวอย่างเช่น อายุเกษียณสำหรับผู้ที่ทำงานในภาครัฐ (Public sector) อาทิ ครูโรงเรียนหลวง อาจแตกต่างระหว่างช่วงปลายอายุ 50 ปี ถึง กลาง 60 ปี ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศ นอกจากนี้ มิใช่ทุกคนต้องรอคอยวันสุดท้ายของการเกษียณตามอายุ บริษัทเอกชนที่ต้องการลด (Shed) พนักงานส่วนเกิน มักพบว่า การเสนอผลตอบแทน (Package) ให้เกษียณก่อนกำหนด แก่พนักงานสูงอายุ ให้ความคุ้มค่าทางการเงินมากกว่ารอให้เขาเกษียณอายุไปตามเวลา

      กฎหมายแรงงาน มักให้การคุ้มครองการเจ็บป่วยเรื้อรัง (Chronic) ในวัยชรา ทำให้ต้นทุนของบริษัทเอกชนสูงขึ้น เว้นแต่ยอมจ่ายผลตอบแทนให้พนักงานเกษียณก่อนอายุ ในทางกลับกัน (Conversely) ก็มีผู้คนที่เลือกทำงานจนเลยวัยเกษียณอายุ ถ้ากฎหมายของประเทศอนุญาต และในกรณีที่มีกิจการของตนเอง (Self-employed) ก็ไม่มีกฎหมายใดกำหนดอายุเกษียณของเจ้าของกิจการ แม้จะเป็นความน่าจะเป็น (Probabilistic) แต่ก็มิใช่กฎตายตัว ว่าการเกษียณตามอายุดำเนินไปโดยอัตโนมัติ(Automatically)

      

แหล่งข้อมูล:

  1. Stuart-Hamilton, Ian. (2012). The Psychology of Ageing (5th Ed). London, UK: Jessica Kingsley Publishers.
  2. Retirementhttps://en.wikipedia.org/wiki/Retirement [2018, December 4].