จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 134 : การรับรู้คำ (3)

จิตวิทยาผู้สูงวัย-134

ในการทดสอบเพื่อทำให้ความหมายของคำง่ายขึ้น (Semantic facilitation) ผู้สูงวัยมักจะเชื่องช้ากว่า (เช่นเดียวกับทดสอบก่อนหน้านี้ในเรื่องเวลาที่เชื่องช้ากว่า ของการสนองตอบ) ในทางประสาทวิทยา (Neurological) นักวิจัยพบว่า กิจกรรมสมองของผู้สูงวัยต่อขั้นตอนที่ยากต่อการพยากรณ์ (Hard-to-predict phase) มักเชื่องช้ากว่าและอ่อนแอกว่าผู้ใหญ่เยาว์วัย

อย่างไรก็ตาม ผู้สูงวัยที่เข้าร่วมวิจัย ได้เปรียบผู้ใหญ่เยาว์วัยเกินกว่าสัดส่วนที่ควรจะเป็น ในกรณีการรับรู้คำที่เห็นแยกส่วน [เป็นทีละคำ] (Isolation) คำอธิบายปรากฏการณ์ (Phenomenon) นี้ค่อนข้างง่าย เหมือนม้าที่วิ่งช้าจะประหยัดเวลามากกว่าม้าที่วิ่งเร็ว เมื่อระยะทางถูกลดลงด้วยจำนวนคงที่ (Constant amount)

ตัวอย่างเช่น ถ้าม้าตัวหนึ่งวิ่งได้ 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และอีกตัวหนึ่งวิ่งเพียง 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แล้วมีการลดระยะทางที่วิ่งแข่ง (Race distance) จาก 40 กิโลเมตร ลงเหลือ 20 กิโลเมตร จะประหยัดเวลา 30 นาทีสำหรับม้าที่วิ่งเร็วกว่า และ 1 ชั่วโมง สำหรับม้าที่วิ่งช้ากว่า [จากเดิมม้าที่วิ่งช้ากว่าต้องใช้เวลา 2 ชั่วโมงในการวิ่งระยะทาง 40 กิโลเมตร] ในทำนองเดียวกันผู้สูงวัยที่สนองตอบช้ากว่า การอำนวยความสะดวก (ซึ่งเปรียบเสมือนการลดระยะทางจากการคำนวณ [Computational distance]) จะเอื้อผลประโยชน์แก่ผู้สูงวัยที่เข้าร่วมวิจัย มากกว่าผู้ใหญ่เยาว์วัย

การรับรู้คำไม่เพียงแต่เป็นจริงเฉพาะการอ่านคำที่พิมพ์ แต่เป็นจริงสำหรับการฟัง (Auditory) ด้วย ในการประมวลผล นักวิจัยไม่พบผลกระทบจากความแตกต่างตามอายุ ในการตรวจสอบความทรงจำของคำ ในผู้สูงวัยและผู้ใหญ่เยาว์วัยที่พูดภาษาฝรั่งเศส ในกรณีคำสะกดที่คล้ายกับคำอื่นที่มีการใช้ร่วมกัน (Common usage) อาทิ loupe สะกดคล้ายกับ soupe และ coupe ซึ่งเป็นคำที่เกิดขึ้นบ่อย

แต่ในกรณีที่ไม่มีคำสะกดใกล้เคียง (Orthographic neighbors) [อาทิ traupe ซึ่งไม่มีคำอื่นที่เกิดขึ้นบ่อยที่สะกดในลักษณะนี้] นักวิจัยพบว่า ผู้ใหญ่เยาว์วัยจะระลึก (Recall) คำได้แย่กว่า แต่ผู้สูงวัยจะไม่ได้รับผลกระทบดังกล่าว นักวิจัยอธิบายว่า ด้วยอายุที่มากขึ้น ระดับกิจกรรมในการประมวลผลจะลดลง ดังนั้น “คำทางเลือก” (Alternative word) จะไม่ได้รับการกระตุ้น (Activated) ในขอบเขตหรือขนาด (Extent) เดียวกัน จึงไม่สามารถแทรกแซง (Interfere) การระลึกถึงของผู้สูงวัยได้

นักวิจัยวัดกิจกรรมสมอง ในขณะที่ผู้เข้าร่วมวิจัยพยายามแยกแยะคำที่พูด (Spoken word) ที่แตกต่างกันของระดับและประเภทเสียงที่อยู่ภูมิหลัง (Background noise) แล้วพบอย่างไม่น่าประหลาดใจเลยว่า ผู้สูงวัยที่เข้าร่วมวิจัยรับรู้ได้แย่กว่าผู้ใหญ่เยาว์วัยอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจโดยเฉพาะ (Especial) ก็คือการรับรู้ที่แย่กว่านี้ อย่างน้อยบางส่วนเกิดจาก (Attributed to) ความแตกต่างในปริมาณ (Volume) ของสสารสีเทา (Grey matter) ในอาณาบริเวณเฉพาะของสมองตรงส่วนบนรอยนูนของขมับ (Superior temporal gyrus region)

แหล่งข้อมูล:

  1. Stuart-Hamilton, Ian. (2012). The Psychology of Ageing (5th Ed). London, UK: Jessica Kingsley Publishers.
  2. Word recognition https://people.clas.ufl.edu/abrams/files/abrams_white_10.pdf [2017, November 7].