จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 4 จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 13 : พฤติกรรมทางเพศในวัยชรา (2)

จิตวิทยาผู้สูงวัย

นักวิจัยรายงานผลว่า ผู้หญิงที่พบว่ากิจกรรทางเพศเติมความเต็ม (Fulfilling) และความสมบูรณ์ (Enriching) ให้ชีวิต ก่อนวัยหมดประจำเดือน (Menopause) มีแนวโน้มที่จะดื่มด่ำความสุขจากกิจกรรมทางเพศหลังวัยหมประจำเดือน และเข้าสู่ผู้ใหญ่วัยดึก (Late adulthood)

ในทางตรงกันข้าม ผู้หญิงที่พบว่ากิจกรรมทางเพศอยู่ในระดับ “พอทนได้” (Just tolerable) หรือแย่กว่านั้น (Worse) ก่อนวัยหมดประจำเดือน อาจค่อยๆ ลดกิจกรรมทางเพศลงหลังวัยหมดประจำเดือน อย่างไรก็ตาม กรณีที่น่าสนใจก็คือ ผู้หญิงในวัฒนธรรมที่วัยหมดประจำเดือน ส่งผลให้สถานะทางสังคม (Social status) ดีขึ้น มักรอคอยวัยดังกล่าวด้วยความกระตือรือร้น ทำให้ประสบกลุ่มอาการที่ไม่พึงปรารถนาทั้งปวง น้อยกว่าผู้หญิงชาวอเมริกัน

ส่วนผู้ชายในวัยดึก (60 – 89 ปี) อาจประสบการเปลี่ยนแปลงทางสรีระ (Physiological) ที่ลดการสนองตอบทางเพศ (Sexual responsiveness) ลง เนื่องจากสิ่งสนองตอบ (Responses) ทางสรีระจำนวนมากชะลอตัวลง เมื่อถึงวัยชรา ผู้ชายอาจต้องการเวลามากขึ้นในการกระตุ้น (Stimulation) องคชาตให้แข็งตัว (Erection) เพื่อบรรลุจุดสุดยอด (Orgasm)

แต่หลังการหลั่งน้ำอสุจิ (Ejaculation) ก็อาจมีการลดลงในพลัง (Force) และปริมาณของเหลว (Fluid) [น้ำอสุจิ] อย่างไรก็ตาม ในผู้ชายที่ร่างกายแข็งแรง มักไม่มีความลำบากในการปลุกเร้าทางเพศ (Sexual arousal) หรือบรรลุจุดสุดยอด ผู้ชายบางคนกังวลว่า ความสามารถของตนในเรื่องดังกล่าวจะลดลง และสิ้นสุดในเรื่องเพศ (Sexuality) ไปเลย

แต่แล้วในปี พ.ศ. 2541 ก็มียาขนานใหม่ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในการบำบัดการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ (Sexual impotency) หรือความไม่สามารถแข็งตัวขององคชาต รายงานเบื้องต้น พบว่า ประมาณ 80% ของผู้ชายที่หย่อนสมรรถภาพทางเพศ สามารถใช้ยาดังกล่าวแก้ไขปัญหาได้

แม้ว่าชายสูงอายุโดยทั่วไปจะยังคงมีความต้องการทางเพศ (Sexually active) มากกว่าผู้หญิงในวัยเดียวกัน แต่ผู้ชายบางคนมองความสามารถทางเพศที่ลดลง เป็นภัยคุกคามต่อการประเมินคุณค่าในตนเอง (Self-esteem) อย่างไรก็ตาม การใช้เวลามากขึ้นในการกระตุ้นให้องคชาตแข็งตัว และการบรรลุจุดสุดยอดที่ชะลอลง สามารถชดเชยด้วยกิจกรรมทางเพศที่สร้างจินตนาการ (Imaginative) โดยคู่ร่วมเพศ (Couple)

ผลการวิจัยพบว่า เมื่อเราเริ่มแก่เฒ่า เราก็ได้เรียนรู้ทักษะที่เพิ่มขึ้นด้วย ตัวอย่างเช่น ความเข้าใจ และอ่อนไหว (Sensitive) ต่อความต้องการของคู่ครอง (Partner) ด้วย ทักษะเหล่านี้ จะช่วยดำรงความสุขจากกิจกรรมทางเพศ

สรุปแล้ว เมื่อสิ่งสนองตอบของร่างกายชะลอตัวลง พอถึงวัยชรา ก็จะมีการลดลงของพฤติกรรมที่เกี่ยวเนื่องกัน อาทิ ความทรงจำที่เสื่อมลง และพฤติกรรมทางเพศที่ลดลงเช่นกัน

การศึกษาสถิติของหมู่บ้านหนึ่งชาวเวลส์ (Welsh) ที่รายงานผล ในวารสารการแพทย์ของอังกฤษ (British Medical Journal) พบว่า ผู้ชายที่สามารถบรรลุจุดสุดยอดได้มากกว่า ดูเหมือนจะมีชีวิตที่ยืนยาวกว่า กล่าวคือกิจกรรมทางเพศ (Sexual activity) ดูเหมือนจะมีผลกระทบที่ป้องกัน (Protective effect) สุขภาพของผู้ชาย

แหล่งข้อมูล

  1. Plotnik, Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.
  2. Sexuality in older age - http://en.wikipedia.org/wiki/Sexuality_in_older_age [2015, July 14].