จำกันได้ไหม? อัลไซเมอร์ (ตอนที่ 4)

องค์การอาหารและยา (Food and Drug Administration = FDA) ได้อนุมัติยา 4 ตัว ใน 2 กลุ่มเพื่อใช้ในการรักษาโรคอัลไซเมอร์

กลุ่มแรกคือ ยาในกลุ่ม Cholinesterase Inhibitors ยาในกลุ่มนี้ช่วยเพิ่มระดับของสาร Acetylcholine ในสมอง ซึ่งมีหน้าที่ช่วยในเรื่องของความจำและการเรียนรู้ ได้แก่ยา Donepezil (AriceptTM) แพทย์นิยมให้ยาตัวนี้กับผู้ป่วยที่เพิ่งเริ่มมีอาการป่วยไปจนถึงผู้ป่วยที่อยู่ในระยะกลาง และระยะรุนแรงของโรค

แพทย์จะให้ยา Rivastigmine (ExelonTM) และยา Galantamine (RazadyneTM) แก่ผู้ป่วยที่เพิ่งเริ่มมีอาการป่วยไปจนถึงผู้ป่วยที่อยู่ในระยะกลางของโรค โดยยาในกลุ่มนี้จะมีผลข้างเคียง คือ มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย น้ำหนักลด และเวียนศีรษะ

ยาในกลุ่มที่ 2 คือ กลุ่ม Memantine (Namenda) ซึ่งช่วยควบคุมสารกลูตาเมท (Glutamate) ในสมอง ที่มีหน้าที่ควบคุมการประมูลข้อมูล ยาในกลุ่มนี้ใช้รักษาผู้ป่วยในระยะกลางและรุนแรง ผลข้างเคียงของการใช้ยานี้ คือ มีอาการเวียนศีรษะ สับสน ปวดศีรษะ ท้องผูก คลื่นไส้ และรู้สึกไม่สงบ (Agitation)

เนื่องจากยาในกลุ่ม Namenda ทำงานแตกต่างจากยาในกลุ่ม Cholinesterase Inhibitors ดังนั้นเราจึงอาจใช้ยาทั้ง 2 กลุ่มควบคู่กันได้

ขณะนี้องค์การอาหารและยา (Food and Drug Administration : FDA) สหรัฐอเมริกา ยังไม่ได้อนุมัติให้ใช้ยารักษาอาการพฤติกรรมและอาการทางจิต (เช่น อาการประสาทหลอน (Hallucination) การรู้สึกไม่สงบ (Agitation) และการมีปัญหาในการนอนหลับ) ใช้ในการรักษาโรคอัลไซเมอร์

นอกจากนี้ยังมีการรักษาโรคอัลไซเมอร์โดยวิธีไม่ใช้ยา เช่น การให้วิตามินอี ซึ่งมีสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) ซึ่งช่วยไม่ให้เซลล์สมองถูกทำลาย อย่างไรก็ดีวิธีนี้แพทย์ไม่ค่อยนำมาใช้แล้ว เนื่องจากมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เพียงเล็กน้อยว่า วิตามินดังกล่าวใช้ได้ผล

มีงานวิจัยบางแห่งที่เสนอว่า ผู้หญิงหลังวัยหมดระดู ซึ่งได้รับฮอร์โมนทดแทน (Hormone replacement therapy = HRT) มีความเสี่ยงในการเป็นโรคอัลไซเมอร์ที่น้อยกว่า เพราะเชื่อว่าฮอร์โมนเพศหญิง (Eestrogen) สามารถช่วยในการเชื่อมเซลล์ประสาทและขัดขวางการผลิต เบต้า แอมีลอยด์ (Beta-amyloid) ซึ่งเป็นโปรตีนที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของคราบ (Plaques) ในสมองที่ทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ได้

อย่างไรก็ดีงานวิจัยเมื่อไม่นานมานี้รายงานว่า ไม่พบประโยชน์ของการให้ฮอร์โมนทดแทน โดยงานวิจัยชิ้นหนึ่งได้เปิดเผยว่า ที่จริงแล้วการให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนอาจเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคอัลไซเมอร์มากกว่าการที่จะช่วยป้องกัน นอกจากนี้การให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนยังเพิ่มความเสี่ยงของอาการหัวใจวาย (Heart attack) การอุดตันของเส้นโลหิตที่ไปเลี้ยงสมอง (Stroke) และมะเร็งเต้านม (Breast cancer) อีกด้วย การรักษาแบบ Sensory therapies เช่น ดนตรีบำบัด และศิลปะบำบัด สามารถพัฒนาอารมณ์ พฤติกรรมของผู้ป่วยได้ด้วยการกระตุ้นความรู้สึก ช่วยฟื้นความทรงจำ และทำให้ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์สามารถเชื่อมต่อกับโลกรอบตัวได้ การรักษาแบบแพทย์ทางเลือก หรือ ที่เรียกว่า Alternative therapies ซึ่งรวมถึง การให้โคเอนไซม์คิวเท็น (Coenzyme Q10) แคลเซียมที่ได้จากผงปะการัง (Coral calcium) สารฮิวเปอร์ซีน เอ (Huperzine A) และ กรดไขมันโอเมกา-3 (Omega-3 fatty acids) เพื่อป้องกันหรือรักษาโรคอัลไซเมอร์ แต่บทวิจัยที่ศึกษาถึงการรักษาด้วยวิธีนี้ยังมีไม่เพียงพอ

แหล่งข้อมูล:

  1. Alzheimer's Disease Therapy Options. http://www.webmd.com/alzheimers/guide/alzheimers-disease-therapy-options [2012, November 24].