งีบกลางวันเสี่ยงเบาหวาน (ตอนที่ 10)

งีบกลางวันเสี่ยงเบาหวาน

โดยปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้แก่

  • น้ำหนักตัวที่มากเกิน – ยิ่งมีเซลล์ไขมันมากเท่าไร จะยิ่งดื้อต่ออินซูลิน
  • การสะสมไขมันในร่างกาย – หากมีการสะสมไขมันที่บริเวณท้องมากกว่าที่อื่น เช่น สะโพกและต้นขา ก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2
  • การการเคลื่อนไหวน้อย (Inactivity) – ยิ่งเคลื่อนไหวน้อยมากเท่าไร ก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มากขึ้นเท่านั้น
  • ประวัติครอบครัว – ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นหากมีพ่อ แม่ หรือพี่น้องเป็นโรคนี้
  • คนที่มีภาวะใกล้จะเป็นเบาหวาน (Prediabetes) – หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รักษา จะมีสิทธิ์พัฒนาเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2คนที่เป็นโรคเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ (Gestational diabetes) จะมีโอกาสในการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มากขึ้น หรือแม่ที่ให้กำเนิดทารกที่คลอดออกมาหนักเกินกว่า 4 กก.ก็มีโอกาสเป็นด้วยเช่นกัน
  • คนที่มีภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic ovary syndrome = PCOS) ซึ่งแสดงออกด้วยรอบเดือนที่ไม่ปกติ มีขนมาก และอ้วน มีโอกาสเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มากขึ้น
  • อายุ –คนที่อายุ 45 ปีขึ้นไปมีความเสี่ยงในการเป็นมากขึ้น
  • จากงานวิจัยของ The University of Edinburgh แห่งสก็อตแลนด์ พบว่า ผู้ชายที่มีระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ต่ำ จะมีความเสี่ยงสูงในการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มากขึ้นเช่นกัน

ทั้งนี้ งานวิจัยของ Imperial College London ที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Journal Diabetologia ระบุว่า การดื่มน้ำอัดลม (Non-diet soda) เพียง 1 กระป๋อง สามารถทำให้ความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เพิ่มขึ้นได้ถึงร้อยละ 22 กล่าวคือ นักวิจัยเชื่อว่าน้ำตาลในเครื่องดื่มนี้ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานได้โดยตรงมากกว่าการมีน้ำหนักตัวที่เกิน

บางคนอาจจะควบคุมอาการของโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ด้วยการลดน้ำหนัก กินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย

โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational diabetes) เป็นโรคเบาหวานที่เกิดขึ้นจากการฮอร์โมนระหว่างตั้งครรภ์ที่ทำให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน หากตับอ่อนไม่สามารถสร้างอินซูลินได้พอระหว่างตั้งครรภ์ ก็จะทำให้หญิงนั้นเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ โดยมีอัตราร้อยละ 18 ของหญิงตั้งครรภ์ โดยผู้หญิงอ้วนหรือมีน้ำหนักมากระหว่างการตั้งครรภ์ มีความเสี่ยงในการเป็นเบาหวานชนิดนี้สูง ซึ่งมักจะหายหลังการคลอดบุตร

อย่างไรก็ดีผู้หญิงที่เป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ก็มีโอกาสในการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ในอนาคต นอกจากนี้เด็กที่เกิดจากแม่ที่เป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ก็มักจะเป็นโรคอ้วนและโรคเบาหวานชนิดที่ 2

แหล่งข้อมูล

1. Diabetes: Symptoms, Causes and Treatments. http://www.medicalnewstoday.com/info/diabetes/[2015, November 15].

2. Diabetes. http://www.nhs.uk/Conditions/Diabetes/Pages/Diabetes.aspx [2015, November 15].

3. Your Guide to Diabetes: Type 1 and Type 2. http://www.niddk.nih.gov/health-information/health-topics/Diabetes/your-guide-diabetes/Pages/index.aspx[2015, November 15].

4. Type 2 diabetes. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/type-2-diabetes/basics/definition/con-20031902[2015, November 15].

5. Type 2 Diabetes Overview. http://www.webmd.com/diabetes/ss/slideshow-type-2-diabetes-overview[2015, November 15].