คู่ปรับสิงห์รมควัน (ตอนที่ 4)

คู่ปรับสิงห์รมควัน-4

เมื่อมีการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งปอด แพทย์จะให้การรักษาที่เหมาะสมตามระยะ (Stage) ที่เป็น โดยมีการแบ่งระยะดังนี้

  • ระยะที่ 1 (Stage I) – เซลล์มะเร็งจะจำกัดอยู่ในปอดและยังไม่แพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง โดยทั่วไปขนาดของก้อนมะเร็งจะเล็กกว่า 2 นิ้ว (5 เซนติเมตร)
  • ระยะที่ 2 (Stage II) - ก้อนมะเร็งอาจะโตมากกว่า 2 นิ้ว หรือเล็กกว่าแต่อยู่ติดกับอวัยวะใกล้เคียง เช่น ผนังหน้าอก กระบังลม หรือ เยื่อหุ้มปอด (Pleura) และอาจกระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียง
  • ระยะที่ 3 (Stage III) - ก้อนมะเร็งจะโตมากและกระจายไปยังอวัยวะอื่นที่อยู่ใกล้ปอด หรืออาจจะเป็นก้อนเล็กแต่มีการกระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณที่อยู่ไกลจากปอด
  • ระยะที่ 4 (Stage IV) - มะเร็งกระจายไปทั่วปอดหรืออวัยวะอื่นที่อยู่ไกลออกไป

แผนการรักษาขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น สุขภาพโดยรวม ชนิดและระยะของมะเร็งที่เป็น ซึ่งการรักษาประกอบด้วย การผ่าตัด เคมีบำบัด รังสีบำบัด การให้ยาเจาะจงเซลล์มะเร็ง และการรักษาแบบประคับประคอง

การผ่าตัด (Surgery) เพื่อตัดเอาปอดส่วนที่มีเซลล์มะเร็งออกโดยแบ่งเป็น

  • การตัดเป็นรูปลิ่ม (Wedge resection) คือ การผ่าตัดเพื่อนำเอาก้อนมะเร็งเล็กๆ และเนื้อเยื่อปกติรอบๆ ออก
  • ตัดปอดส่วนใหญ่ออกบางส่วน (Segmental resection)
  • การตัดกลีบปอด (Lobectomy) คือ การตัดกลีบปอดออกทั้งกลีบ
  • การตัดปอดทั้งข้าง (Pneumonectomy)

นอกจากการผ่าตัดปอดแล้ว แพทย์อาจเลาะเอาต่อมน้ำเหลืองออกไปตรวจหาเชื้อมะเร็งด้วย

การให้เคมีบำบัด (Chemotherapy) เพื่อฆ่าเซลล์มะเร็งผ่านทางเส้นเลือดหรือการกิน มักเป็นการให้ยาหลายตัวรวมกันเป็นชุดๆ เป็นระยะเวลาสัปดาห์หรือเดือน การให้เคมีบำบัดมักทำหลังการผ่าตัดเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็งที่ยังหลงเหลืออยู่ หรืออาจจะทำก่อนการผ่าตัดเพื่อทำให้ก้อนมะเร็งหดตัว ทำให้ผ่าตัดได้ง่ายขึ้น และในบางกรณีการให้เคมีบำบัดสามารถใช้เป็นการลดอาการปวดหรืออาการอื่นๆ ของมะเร็งระยะลุกลาม

การให้รังสีบำบัด (Radiation therapy) เป็นการให้พลังงานสูงที่เป็นลำแสงเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง สามารถใช้การฉายรังสีระยะไกลจากภายนอก ( External Beam Radiation Therapy = EBRT) พุ่งตรงไปยังเซลล์มะเร็ง หรืออาจใช้การรักษาด้วยรังสีระยะใกล้ (Brachytherapy) ด้วยการสอดเข็มหรือท่อเข้าไปยังบริเวณที่เป็นมะเร็งในร่างกาย

การให้รังสีบำบัดสามารถทำหลังการผ่าตัดเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็งที่อาจยังหลงเหลืออยู่ หรืออาจให้รังสีบำบัดเป็นอันดับแรกในกรณีที่ไม่สามารถตัดออกได้ ส่วนในระยะลุกลามอาจมีการให้รังสีบำบัดเพื่อลดอาการปวดและอาการอื่นๆ

ส่วนกรณีที่ก้อนมะเร็งยังเล็ก อาจใช้การฉายรังสีปริมาณสูงไปยังตำแหน่งที่ต้องการความแม่นยำ (Stereotactic body radiotherapy = SBRT) โดยใช้การฉายรังสี 1-5 ครั้ง

แหล่งข้อมูล:

  1. Lung cancer. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/lung-cancer/basics/definition/con-20025531 [2017, October 20].
  2. Lung Cancer. http://www.medicinenet.com/lung_cancer/article.htm [2017, October 20].