คุยโขมง โรงพยาบาลปฐมภูมิ

นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รพสต.) กล่าวถึงนโยบายสุขภาพสำหรับประชาชนในปี พ.ศ. 2555 ว่าจะฟื้นฟูโครงการเก็บเงินสมทบ 30 บาท แต่เนื่องจากเกิดสถานการณ์น้ำท่วม จึงขอเลื่อนไป 90 วัน หรือ 6 เดือนต่อจากนี้ เพราะประชาชนยังอยู่ในช่วงฟื้นฟู แต่ระหว่างนี้ จะเน้นการพัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ซึ่งมีขีดความสามารถการดูแลสุขภาพขั้นแรก/ขั้นปฐมภูมิ (Primary Care) โดยได้รับการยกฐานะจากสถานีอนามัยหรือศูนย์สุขภาพชุมชนเดิม ตามนโยบาลของรัฐบาลนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อปี พ.ศ.2552

การดูแลสุขภาพขั้นปฐมภูมิ (Primary care) คือรูปแบบของบริการดูแลสุขภาพ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในระดับท้องถิ่น [ตำบล] เป็นการทำงานของนักวิชาชีพดูแลสุขภาพ (Healthcare professionals) ผู้ซึ่งเป็นจุดแรกของการให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยทุกคน ภายในระบบดูแลสุขภาพ (Healthcare system)

นักวิชาชีพดังกล่าว จะเป็นแพทย์ปฐมภูมิ (Primary care physician) อาทิ เวชปฏิบัติทั่วไป (General practitioner : GP) หรือแพทย์ประจำครอบครัว ขึ้นอยู่กับแต่ละท้องถิ่น การจัดองค์กรระบบดูแลสุขภาพ และความต้องการของผู้ป่วย ซึ่งอาจได้พบนักวิชาชีพดูแลสุขภาพในสาขาอื่นก่อน อาทิ เภสัชกร พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข

นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับลักษณะของอาการผู้ป่วย ซึ่งอาจได้รับการส่งต่อไปยังการดูแลสุขภาพขั้นที่2/ ทุติยภูมิ (Secondary care) หรือขั้นที่ 3/ตติยภูมิ (Tertiary care) อาทิ การส่งต่อจาก รพสต. ไปยังโรงพยาบาลทั่วไปประจำจังหวัดทุกแห่ง หรือโรงพยาบาลประจำเภอบางแห่งที่มีศักยภาพ แล้วอาจมีการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลศูนย์ ประจำภูมิภาคในที่สุด

การในขั้นนี้ จะเกี่ยวข้องกับขอบเขตที่กว้าง รวมผู้ป่วย [ทุกเพศ] ทุกวัย ทุกระดับชนชั้นในสังคม ซึ่งอาจแตกต่างกันตามฐานะการเงิน หรือแหล่งกำเนิดทางภูมิศาสตร์ เพื่อให้สุขภาพแข็งแรง ไม่ว่าจะเป็นการเจ็บป่วยทางกาย (Physical) หรือทางจิต (Mental) ในรูปแบบฉับพลัน (Acute) หรือเรื้อรัง (Chronic)

ดังนั้น แพทย์ปฐมภูมิ ต้องมีความรู้ในเชิงกว้างในหลายๆ สาขา ความต่อเนื่องคือกุญแจสำคัญของการดูแลสุขภาพขั้นปฐมภูมิ เพราะผู้ป่วยมักต้องการพบแพทย์คนเดิมสำหรับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ และการป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ การศึกษาเรื่องสุขภาพ และทุกครั้งที่ผู้ป่วยต้องการให้แพทย์ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพใหม่

โรคเรื้อรังสามัญที่ได้รับการบำบัดรักษาในขั้นปฐมภูมิ ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง (Hypertension) เบาหวาน (Diabetes) โรคหอบหืด (Asthma) โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic obstructive pulmonary disease : COPD) โรคซึมเศร้า (Depression) และกังวล (Anxiety) ปวดหลัง (Back pain) ไขข้ออักเสบ (Arthritis) หรือ ความผิดปรกติของต่อมไทรอยด์ (Thyroid dysfunction)

นอกจากนี้ การดูแลสุขภาพขั้นปฐมภูมิยังรวมถึงการดูแลสุขภาพของแม่และเด็กขั้นพื้นฐาน [การให้ความรู้สุขอนามัยส่วนบุคคล] และการให้บริการด้านวางแผนครอบครัว [อาทิ การให้การศึกษาเรื่องคุมกำเนิดด้วยวิธีต่างๆ กันและแจกถุงยางอนามัย] และฉีดวัคซีนต่างๆ [ไปตามอายุของเด็ก]

ในขณะที่ประชากรโลกมีผู้สูงอายุจำนวนมากขึ้น ความเสี่ยงของโรคเรื้อรังที่ไม่ติดต่อระหว่างคน (Non-communicable disease) ก็เพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้นความต้องการการดูแลขั้นปฐมภูมิทั่วโลก จึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งในประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) จึงให้ความสำคัญแก่การดูแลสุขภาพขั้นปฐมภูมิว่า เป็นส่วนแรกของการบูรณาการยุทธศาสตร์การดูแลสุขภาพระดับโลก