คุยโขมง โรงพยาบาลตติยภูมิ

อนุสนธิจากข่าวเมื่อวานซืน การดูแลสุขภาพขั้นตติยภูมิ (Tertiary care) คือรูปแบบของบริการดูแลสุขภาพ โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สำหรับผู้ป่วยใน และที่ส่งต่อมาจากกนักวิชาชีพดูแลสุขภาพขั้นปฐมภูมิ [และ/] หรือขั้นทุติยภูมิ ในสถานพยาบาลที่มีบุคลากรและสิ่งอำนวยความสะดวกในเรื่องการวินิจฉัยและบำบัดรักษาขั้นสูง (Advanced)

ตัวอย่างของการดูแลสุขภาพในขั้นนี้ ได้แก่ การจัดการโรคมะเร็ง (Cancer management) ศัลยกรรมประสาท (Neurosurgery) ศัลยกรรมหัวใจ (Cardiac surgery) ศัลยกรรมพลาสติก (Plastic surge) การบำบัดรักษาผู้ป่วยถูก ไฟไหม้/น้ำร้อนลวกขั้นรุนแรง (Severe burns) การบริการทารกแรกเกิดขั้นสูง (Advanced neonatology) การดูแลสุขภาพผู้ป่วยระยะประคับประคอง (Palliative care) และการแทรกแซง (intervention) โรคที่ซับซ้อนทางอายุรกรรมและศัลยกรรม

ในประเทศไทย ตัวอย่างของโรงพยาบาลเฉพาะทางได้แก่ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ สถาบันโรคทรวงอก โรงพยาบาลสงฆ์ โรงพยาบาลตา (อาทิโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ หรือวัดไร่ขิงของรัฐ และโรงพยาบาลรัตนินของเอกชน) โรงพยาบาลฟัน โรงพยาบาลผิวหนัง และโรงพยาบาลทางจิตเวช (อาทิ โรงพยาบาลศรีธัญญาและโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาของรัฐ และโรงพยาบาลมนารมย์ของเอกชน)

ส่วนตัวอย่างของการดูแลสุขภาพขั้นตติยภูมิ ได้แก่ โรงเรียนแพทย์ทุกแห่ง ที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร อาทิ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และที่อยู่ในหัวเมืองต่างจังหวัด อาทิโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ขอนแก่น โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร และโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เป็นต้น

โรงพยาบาลทหารทั้ง 3 เหล่าทัพ ก็ให้บริการดูแลสุขภาพขั้นตติยภูมิ อันได้แก่ โรงพยาลพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว โรงพยาบาลพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และโรงพยาบาลภูมิพล นอกจากนี้โรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพหานคร อาทิ โรงพยาบาลวชิรพยาบาลและโรงพยาบาลกลาง ก็ให้บริการดังกล่าวเช่นกัน

โรงพยาบาลศูนย์ทุกแห่งสังกัดกระทรวงสาธารสุข อาทิ โรงพยาบาลศูนย์ที่ลำปาง พิษณุโลก ขอนแก่น นครราชสีมา พระนครศรีอยุธยา ชลบุรี นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ยะลา ฯลฯ ก็ให้การดูแลขั้นตติยภูมิ รวมทั้งโรงพยาบาลศาสนาคริสต์ อาทิ โรงพยาบางกรุงเทพคริสเตียน และโรงพยาบาลมิชชั่น

ส่วนโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ที่ให้บริการดูแลสุขภาพขั้นตติยภูมิ ได้แก่ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ โรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลสมิติเวช โรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลบีเอ็นเอช โรงพยาบาลวิชัยยุทธ์ โรงพยาบาลพระราม 9 และโรงพยาบาลเวชธานี เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีการดูแลสุขภาพขั้น “จตุรภูมิ” (Quaternary care) แต่แท้จริงแล้ว คือรูปแบบของการขยายขอบเขตของการดูแลสุขภาพขั้นตติยภูมิ นับเป็นการแพทย์ขั้นก้าวหน้าขึ้น ที่ต้องอาศัยทักษะความชำนาญพิเศษเฉพาะในการทดลองทางการแพทย์ โดยเฉพาะวิธีการของการวินิจฉัยโรค หรือการศัลยกรรมที่ซับซ้อน การให้บริการเหล่านี้ ค่อนข้างจำกัดในบางภูมิภาค หรือบางศูนย์ดูแลสุขภาพแห่งชาติ เท่านั้น

แหล่งข้อมูล:

  1. Healthcare. http://en.wikipedia.org/wiki/Health_care
  2. โรงพยาบาลในประเทศไทย http://th.wikipedia.org/wiki/โรงพยาบาลในประเทศไทย