คุยกับหมอสมศักดิ์ ตอน: การส่งตรวจเอมอาร์ไอสมอง

การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือเอมอาร์ไอนั้น เป็นการตรวจสืบค้นเพิ่มเติมอย่างหนึ่ง โดยเป็นการตรวจทางรังสีวินิจฉัย เพื่อให้เห็นว่าสมองหรืออวัยวะที่ตรวจนั้นมีรูปร่างอย่างไร ผิดปกติหรือไม่ ผิดปกติตรงไหน และสิ่งผิดปกตินั้นน่าจะเป็นอะไร ปัจจุบันพอมีความผิดปกติที่สงสัยว่าจะมีรอยโรคในสมองหรือไขสันหลัง ผู้ป่วยก็อยากจะตรวจเอมอาร์ไอ เพราะเข้าใจว่าดีกว่าเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง แต่การตรวจเอมอาร์ไอนั้น ก็มีข้อจำกัดหลายประการ ได้แก่

  1. ค่าตรวจที่แพง ในการตรวจเฉพาะส่วน แต่ละครั้งประมาณ 8,000-12,000 บาท
  2. หาสถานที่ตรวจยาก มีเฉพาะโรงพยาบาลใหญ่ๆ เท่านั้น แม้โรงพยาบาลจังหวัดส่วนใหญ่ก็ไม่มี
  3. การตรวจใช้เวลานานประมาณ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง ผู้ป่วยที่สัญญาณชีพไม่ดีก็ตรวจไม่ได้
  4. บางคนไม่สามารถตรวจได้ เช่น อ้วนมาก ตั้งครรภ์ช่วงอายุครรภ์มากๆ เนื่องจากตัวใหญ่ไม่สามารถเข้าไปในอุโมงค์ของเครื่องตรวจได้ ผู้ที่ใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า มีขดลวดหรือโลหะในตัว (เช่น ขดลวดขยายหลอดเลือดหัวใจ ลิ้นหัวใจเทียม อุดฟันด้วยวัสดุที่เป็นโลหะ) เป็นต้น รวมทั้งผู้ที่อยู่ในที่แคบๆ ไม่ได้

นอกจากข้อจำกัดข้างต้นแล้ว บางกรณีการตรวจเอมอาร์ไอก็ไม่ดีเท่าการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง ได้แก่

  1. ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน เพราะจะเสียเวลาในการตรวจนาน ทำให้ได้ยาละลายลิ่มเลือดล่าช้า หรือไม่ได้รับยาเลย เพราะเลยระยะเวลาที่สามารถให้ยาได้
  2. ภาวะสงสัยเลือดออกในสมอง หรือในชั้นใต้อะแรชนอยด์(เลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลางในช่วงแรกที่เป็น การตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองก็เห็นชัดเจนกว่าการตรวจด้วยเอมอาร์ไอ
  3. ภาวะมีหินปูนในสมอง การตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองก็เห็นชัดเจนมาก ไม่จำเป็นต้องตรวจเอมอาร์ไอ
  4. ผู้ป่วยอุบัติเหตุและมีอาการรุนแรง หรือผู้ป่วยที่สัญญาณชีพไม่ปกติ การตรวจเอมอาร์ไอ ไม่สามารถทำได้ และอาจส่งผลเสียได้ เพราะการตรวจเอมอาร์ไอใช้เวลานานและอยู่ในอุโมงค์แคบๆ ถ้าผู้ป่วยมีอาการทรุดลง การช่วยเหลือให้การรักษาทำได้ยากมากๆ

แล้วข้อดีของเอมอาร์ไอที่เห็นภาพได้ชัดกว่านั้น ควรตรวจเมื่อใด

  1. กรณีสงสัยโรคบริเวณก้านสมอง สมองส่วนกลีบขมับ (temporal lobe) หรือรอยโรคบริเวณผิวสมองที่มีความผิดปกติแต่กำเนิด (cortical dysplasis)
  2. กรณีสงสัยรอยโรคขนาดเล็กมากๆ เช่น 1-2 มิลลิเมตร
  3. กรณีสงสัยรอยโรคชนิดที่ตรวจพบยากด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง ,เช่น ความผิดปกติของเนื้อสมองส่วนสีขาว (white matter), สีเทา (gray matter) และรอยต่อของสมองส่วนสีขาวต่อกับสีเทา (gray-white junction)
  4. กรณีสงสัยรอยโรคบริเวณผิวสมอง เยื่อหุ้มสมอง ฐานกะโหลก

ดังนั้น การตรวจเอมอาร์ไอหรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองนั้น แพทย์จะพิจารณาถึงข้อดีข้อเสีย และความเหมาะสม ผู้ป่วยไม่ต้องกังวลใจว่าแพทย์จะเลือกการส่งตรวจที่ไม่ดีให้ แพทย์จะพิจารณาการสืบค้นที่เหมาะสมกับผู้ป่วยและโรคที่คิดถึงตามมาตรฐานการรักษา

นอกจากนี้ การตรวจด้วยเอมอาร์ไอ อาจพบความผิดปกติที่เล็กน้อยและไม่สัมพันธ์กับอาการ หรือไม่ได้ก่อโรคใดๆ ทั้งสิ้น เช่น จุดสีขาวเล็กมากบริเวณสมองส่วนสีขาว สมองเหี่ยวเล็กน้อย เป็นต้น เมื่อผู้ป่วยเห็นผลตรวจก็ตกใจกับผลการตรวจนั้นๆ เนื่องจากความละเอียด หรือชัดมากของภาพ ผมมักจะอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจว่าการเห็นภาพที่ชัดเหมือนกับเราเห็นร่องรอยเหี่ยวย่นบนใบหน้าเวลาที่ใช้แว่นขยายส่องดู เราก็จะเห็นรอยย่น ความผิดปกติเล็กๆน้อยๆ อยู่บนใบหน้าปกติของเรา ซึ่งมันก็คือใบหน้าปกติของเรานั้นเอง อย่าตกใจครับ