คุยกับหมอสมศักดิ์ ตอน เมื่อคุณพบแพทย์ ตอนที่ 2 ปวดหัว-คุณรู้หรือไม่

อาการปวดศีรษะเป็นอาการผิดปกติที่ทุกคนต้องเคยเป็น บางคนปวดรุนแรง บางคนปวดไม่รุนแรง บางคนเป็นบ่อย ๆ บางคนนาน ๆ เป็นครั้ง เกือบทั้งหมดของผู้ป่วยมีสาเหตุที่ไม่ร้ายแรง เช่น ปวดศีรษะไมเกรน ปวดศีรษะจากความเครียด ส่วนน้อยที่มีสาเหตุร้ายแรง เช่น ติดเชื้อเยื่อหุ้มสมอง(เยื่อหุ้มสมองอักเสบ) ไข้สมองอักเสบ เลือดออกในสมอง เนื้องอกสมอง แล้วแพทย์ทราบได้อย่างไรว่าใครมีสาเหตุจากอะไร

การวินิจฉัยอาการปวดศีรษะส่วนใหญ่แล้วจะสามารถให้การวินิจฉัยจากประวัติอาการและประวัติทางการแพทย์ต่างๆของผู้ป่วยเป็นหลัก การตรวจร่างกายทั่วไป การตรวจร่างกายทางระบบประสาท และผลการสืบค้นเพิ่มเติม ดังนั้น ประวัติฯ จึงจำเป็นในการวินิจฉัยโรคมากที่สุด ประวัติที่จำเป็นนั้นต้องได้จากผู้ป่วยและญาติ ดังนี้

  1. อาการปวดศีรษะเป็นมานานเท่าไหร่ ถ้าเป็นมานานมาก ๆ เช่น หลาย ๆ ปี ก็จะบอกว่าสาเหตุไม่น่าจะร้ายแรง แต่ถ้าเป็นขึ้นมาอย่างรวดเร็ว เฉียบพลันก็มักจะเป็นสาเหตุรุนแรง
  2. ลักษณะการปวดศีรษะ เช่น ปวดตื้อ ๆ ปวดตุ๊บ ๆ ปวดจี๊ด ๆ ปวดเสียดแทง กรณีปวดตุ๊บ ๆ ก็เป็นลักษณะของปวดศีรษะไมเกรน ปวดตื้อ ๆ เป็นลักษณะของการบีบรัด เช่น ปวดศีรษะจากความเครียด ปวดจี๊ด ๆ ปวดเสียดแทงเป็นลักษณะของปวดเหตุระบบประสาท (neuropathic pain) เช่น ปวดเหตุเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 อักเสบ (trigeminal neuralgia)
  3. ตำแหน่งการปวดศีรษะ เช่น บริเวณขมับข้างใดข้างหนึ่งก็เป็นของปวดศีรษะไมเกรน หลอดเลือดแดงบริเวณขมับอักเสบ (temporal arteritis) บริเวณขมับ 2 ข้างและหน้าผาก เป็นลักษณะของการปวดศีรษะแบบกล้ามเนื้อบีบรัด เช่น ปวดศีรษะความเครียด ปวดบริเวณท้ายทอยก้มคอไม่ลง อาจเกิดจากเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือกล้ามเนื้อต้นคอเคล็ด ปวดบริเวณแก้ม กราม เป็นตำแหน่งของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 อักเสบ เป็นต้น
  4. ลักษณะการดำเนินโรค เช่น ถ้าลักษณะการดำเนินโรคเป็น ๆ หาย ๆ สาเหตุน่าจะเป็นปวดศีรษะไมเกรน, อาการปวดศีรษะเป็นรุนแรงที่สุดตั้งแต่เคยเป็นและเป็นมากขึ้นมาทันที สาเหตุน่าจะเป็นปวดศีรษะจากเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกกลาง/ชั้นอะแรชนอยด์ (subarachnoid hemorrhage : SAH), ปวดแต่ละครั้งสั้น ๆ ไม่กี่วินาที สาเหตุน่าจะเกิดจากเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 อักเสบ, ถ้าอาการปวดเป็นมานานหลาย ๆ ปี เป็นเรื้อรังไม่รุนแรง น่าจะเป็นสาเหตุจากอาการปวดศีรษะจากความเครียด, ถ้าปวดศีรษะรุนแรงเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงระยะเวลาสัปดาห์ถึงเดือน สาเหตุน่าจะเกิดจากเนื้องอกในสมอง, ถ้ามีอาการเป็นติดต่อกันเป็นสัปดาห์เป็นเวลาเดิมของแต่ละวัน แล้วก็หายไป พอถึงเวลาเดิมของแต่ละปีก็มีอาการอีกแบบเดิม สาเหตุน่าจะเกิดจากปวดศีรษะคลัสเตอร์ (cluster headache) เป็นต้น
  5. โรคประจำตัว ยาที่ใช้ เช่น โรคหัวใจขาดเลือด ถ้ามีอาการปวดศีรษะหลังทานยาขยายหลอดเลือด ก็น่าจะมีสาเหตุปวดศีรษะจากยาขยายหลอดเลือด โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง, ถ้าปวดศีรษะรุนแรง สาเหตุก็น่าจะเป็นจากการติดเชื้อในสมองหรือเยื่อหุ้มสมอง, โรคหลอดเลือดดำที่ขาอุดตัน ทานยาละลายลิ่มเลือด ถ้าปวดศีรษะก็น่าจะมีสาเหตุจากเลือดออกในสมองจากยาละลายลิ่มเลือดสูงเกินขนาด เป็นต้น
  6. ประวัติอุบัติเหตุที่ศีรษะ ถ้ามีอาการปวดศีรษะจากประสบอุบัติเหตุรุนแรง เช่น สลบ ลืมเหตุการณ์ สาเหตุน่าจะเกิดจากอุบัติเหตุโดยตรง เช่น เลือดออกที่ผิวสมอง(ภาวะเลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอก) หรือใต้ชั้นดูรา(ภาวะเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นนอก)
  7. ประวัติมีไข้ ถ้ามีอาการปวดศีรษะรุนแรงร่วมกับมีไข้ขึ้นสูง สาเหตุต้องคิดถึงการติดเชื้อ เช่น การติดเชื้อในสมอง(สมองอักเสบ) เยื่อหุ้มสมอง(เยื่อหุ้มสมองอักเสบ) ติดเชื้อในกระแสเลือด(ภาวะพิษเหตุจิดเชื้อ) หรือเป็นไข้หวัด ไซนัสอักเสบ ก็ได้
  8. ประวัติอะไรทำให้อาการดีขึ้น หรืออาการปวดศีรษะมากขึ้น เช่น ปวดเวลาลุกขึ้นยืนหรือเดิน เมื่อนอนพักจะดีขึ้น น่าจะเกิดจากความดันในโพรงกะโหลกศีรษะต่ำ, ปวดศีรษะมากขึ้นเวลาไอ จาม เบ่งถ่าย ยกของหนัก น่าจะมีสาเหตุจากไซนัสอักเสบ, ปวดศีรษะช่วงมีรอบประจำเดือน น่าจะเป็นจากปวดศีรษะไมเกรน เป็นต้น
  9. ประวัติกินอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ เช่น ปวดศีรษะหลังจากทานหอย ปลาดิบ สาเหตุน่าจะเกิดจากการติดเชื้อ

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างที่ผู้ป่วยหรือญาติต้องเตรียมข้อมูลที่สำคัญ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัยของแพทย์และของตัวท่านเอง