คุยกับหมอสมศักดิ์ ตอน การตรวจเอกซเรย์เมื่อประสบอุบัติเหตุที่ศีรษะ

ผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุที่ศีรษะเนื่องจากอุบัติเหตุทางการจราจรหรือตกจากที่สูงจะถูกนำส่งโรงพยาบาลหรือพบแพทย์ที่คลินิก ผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะ มึนศีรษะและ/หรือมีแผลที่ศีรษะร่วมด้วย บางรายแพทย์ก็จะส่งตรวจเอกซเรย์กะโหลกศีรษะแบบธรรมดา บางรายแพทย์ส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง หรือบางรายแพทย์ไม่ส่งตรวจเอกซเรย์ใดๆเลย ทำไมจึงมีการส่งตรวจไม่เหมือนกัน เป็นเพราะสิทธิ์การรักษาหรือเปล่า ดังที่เป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์บ่อยๆว่าได้รับการรักษาที่ไม่เหมาะสม ประสบอุบัติเหตุมาแล้วแพทย์ไม่ดูแลให้ดี ปล่อยให้กลับบ้าน เอกซเรย์ก็ไม่ส่งตรวจ และเสียชีวิตในวันต่อมา

การส่งตรวจเอกซเรย์แต่ละชนิดหรือไม่ได้ส่งตรวจนั้น แพทย์จะพิจารณาตามอาการและความรุนแรงของการเกิดอุบัติเหตุนั้นๆ แพทย์จะไม่ได้ส่งตรวจเพิ่มเติมเลยถ้าการประสบอุบัติเหตุนั้นไม่ได้มีความรุนแรงเลย เช่น ศีรษะไม่ได้รับการกระทบกระเทือนเลย ไม่มีแผลหรือรอยถลอก รอยฟกช้ำที่ศีรษะ ไม่มีอาการเจ็บปวดที่ศีรษะ ไม่มีอาการสลบ ลืมเหตุการณ์ คือทุกอย่างปกติ เพียงแต่มีประวัติว่าประสบอุบัติเหตุมาเท่านั้น กรณีนี้ผู้ป่วยก็ไม่น่าจะมีอาการผิดปกติใดๆ หรือไม่น่าจะมีโอกาสได้รับอันตรายใดๆจากการเกิดอุบัติเหตุครั้งนี้ จึงเป็นเหตุที่แพทย์จึงไม่ได้ส่งตรวจเพิ่มเติมใด ๆ เพียงแค่ให้การรักษาเบื้องต้น ให้คำแนะนำในการดูแลตนเองที่เหมาะสม และข้อเตือนเกี่ยวกับอาการที่บ่งชี้ว่ามีอันตรายเกิดขึ้น เช่น อาการปวดศีรษะรุนแรง อาเจียน ตาพร่ามัว ต้องรีบกลับมาพบแพทย์ทันทีที่มีอาการดังกล่าว

แพทย์พิจารณาส่งตรวจเอกซเรย์คอมพวเตอร์สมองกรณีผู้ป่วยประสบอุบัติเหตุอย่างรุนแรง ตรวจพบแผลขนาดใหญ่ที่ศีรษะ รอยคล้ำที่เบ้าตา หรือรอบๆหู หลังรู น้ำใสๆไหลออกจากจมูกหรือช่องหู ระดับความรู้สึกตัวไม่ดี ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ผู้ป่วยจำเหตุการณ์ไม่ได้เลย สลบ กรณีแบบนี้แพทย์ต้องส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองทันที ถ้าที่โรงพยาบาลไม่มีเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ แพทย์ก็ต้องส่งตรวจหรือส่งรับการรักษาต่อยังโรงพยาบาลที่มีความพร้อมสูงกว่า หลังจากที่ได้ให้การรักษาเบื้องต้นปลอดภัยแล้ว

ส่วนการส่งตรวจเอกซเรย์กะโหลกศีรษะแบบธรรมดานั้น แพทย์จะส่งตรวจกรณีที่อุบัติเหตุไม่ได้รุนแรงเท่ากับกรณีข้างต้นที่ต้องส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง ผู้ป่วยที่มีอาการปวดศีรษะ มีแผลหรือรอยกระทบกระเทือนที่ศีรษะ สลบไม่ชัดเจน ตรวจร่างกายไม่พบความผิดปกติทางระบบประสาทใด ๆ พูดคุยปกติ จำเหตุการณ์ได้ ซึ่งการส่งตรวจเอกซเรย์กะโหลกศีรษะนั้นเป็นการส่งตรวจเพื่อที่จะประเมินในกรณีที่ไม่แน่ใจว่าอาการที่เกิดขึ้นนั้นจะมีอันตรายมากน้อยแค่ไหน ถ้าการตรวจเบื้องต้นพบว่ามีการแตกของกระดูกกะโหลกศีรษะ ก็จะได้ให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไป เช่น การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองต่อ เป็นต้น

นอกจากนี้ในบางกรณี เช่น ผู้ป่วยทานยาละลายลิ่มเลือด (anticoagulant) ถึงแม้อาการจะไม่ได้รุนแรงมากเท่ากับกรณีต่างๆข้างต้น แพทย์ก็อาจพิจารณาส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง เพราะผู้ที่ทานยาละลายลิ่มเลือดนั้น อาจเกิดเลือดออกในสมองหรือที่ผิวสมองได้ง่าย ถึงแม้จะไม่ได้เกิดอุบัติเหตุที่รุนแรง การสังเกตอาการหลังประสบอุบัติเหตุเป็นเรื่องที่สำคัญมากกรณีแบบนี้ เพราะถ้าให้การวินิจฉัยได้รวดเร็ว ผลการรักษาก็จะได้ผลดีมาก

บ่อยครั้งที่ผู้ป่วยหรือญาติพาผู้ป่วยมาพบแพทย์ภายหลังจากที่เกิดอุบัติเหตุนานหลายสัปดาห์หรือเป็นเดือนๆ เนื่องจากมีอาการปวดศีรษะเรื้อรังไม่ดีขึ้น ยังมีอาการเป็นๆหายๆ กังวลใจว่าจะมีเลือดออกในสมองหรือมีกะโหลกศีรษะแตกนั้น แพทย์ก็จะสอบถามอาการที่เกิดขึ้น ความรุนแรงของอุบัติเหตุ อาการสลบ การลืมเหตุการณ์ การมีน้ำใสๆไหลออกมาจากจมูก ช่องหูหรือไม่ ตรวจร่างกายโดยละเอียด ถ้าไม่พบความผิดปกติใดๆ ไม่มีอาการผิดปกติอื่นๆข้างต้น แพทย์ก็ไม่ได้ ส่งตรวจอะไรเพิ่มเติมอีก แต่จะให้คำแนะนำเกี่ยวกับอาการ หรือสิ่งที่ต้องสังเกตว่าจะมีอาการอะไรที่เป็นสัญญาณอันตรายว่ามีเลือดออกในสมอง ถ้ามีก็รีบมาพบแพทย์ทันที