คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน: อาหารโปรตีนกับมะเร็งเต้านม

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

ความสัมพันธ์ระหว่างอาหารกับมะเร็งเต้านม เป็นเรื่องที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าจะมีความสัมพันธ์กัน แต่การศึกษาต่างๆก็ยังไม่สามารถชี้ชัดลงไปได้ว่า อาหารประเภทใด น่าจะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านม ทั้งนี้เพราะจากการศึกษาที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ ไม่สามารถหาข้อมูลมาสนับสนุนได้ว่า อาหารทั้ง 2 กลุ่ม คือ คาร์โบไฮเดรต และ ไขมัน เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านม นักวิทยาศาสตร์จึงมุ่งมาศึกษาถึงโปรตีน อาหารหลักอีกกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะ โปรตีนที่ได้จาก เนื้อแดง (เนื้อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม) เพราะเป็นโปรตีนที่มีสารทีกระตุ้นให้เกิดการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของเซลล์ได้ ที่เรียกว่า Insulin-like growth factor 1

คณะนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Harvard สหรัฐอเมริกา นำโดย M.S. Farvid ได้ศึกษาถึงผลของการกินอาหารโปรตีนสูงว่า จะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมหรือไม่ และเพื่อลดตัวแปรในการศึกษา จึงเจาะจงศึกษาเฉพาะกลุ่มผู้หญิงวัยยังมีประจำเดือน โดยศึกษาในพยาบาลสตรีทั้งหมด 88,803 ราย อายุช่วง 24-43 ปี จากการสอบถาม และติดตามผลการศึกษาอย่างต่อเนื่องนานถึง 20 ปี

ผลการศึกษาพบว่า ผู้หญิงในวัยนี้ ที่กินเนื้อแดงสูงในแต่ละวัน เป็นมะเร็งเต้านมสูงกว่ากลุ่มที่กินเนื้อแดงต่ำ(ที่กิน เป็ด ไก่ ปลา ไข่ ถั่วๆต่างๆ ชดเชยเนื้อแดง) ถึง 22% ซึ่งเป็นค่าที่มีนัยสำคัญทางสถิติ

ผู้ทำการศึกษา จึงสรุปผลการศึกษาว่า การกินเนื้อแดงปริมาณสูงต่อวันอย่างต่อเนื่องในผู้หญิงวัยสาวและวัยก่อนหมดประจำเดือน เป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่งต่อการเกิดมะเร็งเต้านม

ดังนั้นประโยชน์ที่ได้จากการศึกษานี้ คือ เราสามารถลดปัจจัยเสี่ยงหนึ่งต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านมลงได้ด้วยการจำกัดการกินโปรตีนจากเนื้อแดง โดยชดเชยโปรตีนด้วยโปรตีนจากแหล่งอื่น เช่น เป็ด ไก่ ปลา ไข่ และพืชตระกูลถั่ว

แต่ก็ยังมีผู้ท้วงติงว่า การศึกษานี้ยังมีข้อจำกัด อาจจะไม่สามารถสรุปได้เต็มร้อย ถึงความสัมพันธ์ของเนื้อแดงกับมะเร็งเต้านม เพราะปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งเต้านมมีหลายปัจจัย ที่การศึกษานี้ไม่ได้ครอบคลุมถึง เช่น การออกกำลังกาย และ การทำงานเป็นกะ (เพราะลักษณะงานของพยาบาล เป็นการทำงานเป็นกะ) ดังนั้นจึงสมควรมีการศึกษาเพิ่มเติมก่อนจะสรุปชัดเจน

อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษานี้ สอดคล้องกับคำแนะนำจากสมาคมต่างๆด้านโรคมะเร็ง และโรคหัวใจและหลอดเลือด ในประเทศตะวันตก ที่แนะนำอาหารป้องกันโรคมะเร็ง ป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ และป้องกันโรคท่อเลือดแดงแข็ง คือ อาหารที่จำกัดโปรตีนจากเนื้อแดง โดยกินโปรตีนจากแหล่งอื่นดังกล่าวแล้วชดเชย เพื่อไม่ให้ร่างกายขาดสารอาหารโปรตีน

บรรณานุกรม

  1. Maryam S Farvid et al. Dietary protein sources in early adulthood and breast cancer incidence: prospective cohort study.
  2. BMJ 2014; 348 http://www.bmj.com/content/348/bmj.g3437 [2014,Oct18]