คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน: ปริมาณรังสีจากการตรวจโรคหัวใจในเด็ก

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

กลุ่มเด็กโรคหัวใจ เป็นกลุ่มเด็กที่พบได้น้อย และโรคมักเป็นแต่กำเนิด ซึ่งการรักษาที่สำคัญ คือการผ่าตัด และอาจจำเป็นต้องผ่าตัดมากกว่า 1ครั้งขึ้นไป รวมถึงก่อนและหลังผ่าตัดจะต้องใช้การตรวจวินิจฉัยโรคด้วยการเอกซเรย์ ซึ่งเป็นรังสีเอกซ์ และจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการตรวจทางรังสีบ่อยมาก มักรวมไปถึงการตรวจที่ยุ่งยากซับซ้อน เช่น เอกซย์คอมพิวเตอรฺเทคนิคเฉพาะต่าง การดูภาพรังสีบนจอ (Fluoriscopy) เอกซเรย์สวนหัวใจและหลอดเลือด และเอกซเรย์ธรรมดาทั่วไป ดังนั้นเด็กกลุ่มนี้จึงได้รับรังสีสูงกว่า เด็กป่วยทั่วไปมาก แพทย์จึงต้องการทราบว่า ปริมาณรังสีที่สูงขึ้นที่เด็กกลุ่มนี้ได้รับ จะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งต่อเด็กหรือไม่ เพราะในช่วงวัยเด็ก เซลล์ของเด็กมีโอกาสเปลี่ยนเป็นเซลล์มะเร็งหลังการได้รับรังสีสูงกว่าในเซลล์ผู้ใหญ่มาก โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก เรียกว่า เซลล์ไวต่อรังสี (Radiation sensitive) จึงเป็นที่มาของการศึกษานี้

การศึกษานี้ ทำที่สหรัฐอเมริกา ณ มหาวิทยาลัย Duke University โดยได้รับทุนสนับสนุนจากองค์กรแพทย์ของรัฐบาลสหรัฐ (National Institutes of Health, NIH) ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารวารการแพทย์ ชื่อ Circulation เมื่อ มิถุนายน พ.ศ. 2557 การศึกษานี้เป็นการศึกษาของคณะแพทย์ ที่นำโดย นพ. J.N. Johnsin

โดยเป็นการศึกษาในเด็กโรคหัวใจที่ได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด อายุตั้งแต่ 6 ปีลงมา(เด็กเล็ก) จำนวนทั้งหมด 337 ราย จำนวนครั้งของการผ่าตัดมีตั้งแต่ 1 ครั้งไปจนถึง 7 ครั้ง โดยการศึกษาอยู่ในช่วง ค.ศ. 2005-2010

ผลการศึกษาพบว่า เด็กกลุ่มนี้จะได้รับรังสีอยู่ในช่วง 0.1-76.9 mSv/millisievert/หน่วยของรังสี)โดยมีค่ามัธยฐาน 2.7 mSv (ค่าที่จัดว่าปลอดภัย คือ 50 mSv ต่อปี) ซึ่งการได้รับปริมาณรังสีที่ได้รับที่สูงกว่ากรณีของเด็กป่วยทั่วไปนี้ เมื่อพยากรณ์แล้ว เป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคมะเร็ง(ตลอดชีวิต)ได้ 0.001-6.5% ขึ้นกับปริมาณรังสีที่ได้รับ ยิ่งได้รับรังสีสูง ปัจจัยเสี่ยงจะสูงขึ้น

คณะแพทย์ผู้ทำการศึกษา ได้สรุป ผลการศึกษาว่า ปริมาณรังสีที่เด็กป่วยทั่วไปได้รับจากการตรวจโรคทางรังสีวิทยา ไม่ได้เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง แต่ในโรคหัวใจที่เกิดในเด็กเล็ก ในรายที่โรคซับซ้อนรุนแรง และจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดรักษามากกว่า 1 ครั้ง เด็กจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการตรวจด้วยรังสีเอกซ์ ซึ่งการจะได้รับรังสีมากหรือน้อยขึ้นกับจำนวนการตรวจทางเอกซเรย์ ดังนั้นผู้ปกครองเด็กเหล่านี้ จึงควรต้องตระหนัก ถึงปัจจัยเสี่ยงที่เด็กจะเกิดโรคมะเร็งได้สูงกว่าคนทั่วไป ที่ครอบคลุมถึงในระยะเวลาตลอดชีวิตของเด็ก/ผู้ป่วย

บรรณานุกรม

  1. Lifetime cancer risk from heart imaging tests is low for most children; more complex tests may raise risk. American Heart Association Rapid Access Journal Report http://newsroom.heart.org/news/lifetime-cancer-risk-from-heart-imaging-tests-is-low-for-most-children;-more-complex-tests-may-raise-risk [2014,Oct18]
  2. J. N. Johnson, C. Hornik, J. S. Li, D. K. Benjamin, T. Yoshizumi, R. E. Reiman, D. P. Frush, K. D. Hill. Cumulative Radiation Exposure and Cancer Risk Estimation in Children with Heart Disease. Circulation, 2014 https://circ.ahajournals.org/content/130/2/161.full [2014,Oct18]